ไม่พบผลการค้นหา
รังสิมันต์ โรม เรียกร้อง กกต. ให้มีความชัดเจนในการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างสมเหตุสมผล และไม่บ่ายเบี่ยงในการสร้างระบบรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์

31 ม.ค. 2566 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความชัดเจนต่อทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างสมเหตุสมผล และไม่บ่ายเบี่ยงในการสร้างระบบรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่สุดจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดารที่ไม่ส่งผลดีทั้งต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และนำไปสู่ข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส ทำให้เกิดคำถามว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งสะท้อนพื้นที่ประชากรอย่างถูกต้องหรือไม่ และเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ ดังจะเห็นได้ว่าในหลายเขตเลือกตั้งที่มีการแบ่งออกมา ครอบคลุมพื้นที่ห่างกันมาก จากสุดเขตฝั่งหนึ่งไปถึงอีกสุดเขตฝั่งหนึ่ง บางแห่งห่างกันถึง 200 กิโลเมตรก็มี

คำถามคือการแบ่งเขตแบบนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของผู้แทนที่จะต้องเดินทางไปพบปะประชาชนตามการแบ่งเขตเช่นนี้จะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กกต. ทำการแบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงนี้ อย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดแบ่งหรือรวมตำบลต่างๆ ออกเป็นเขตเลือกตั้งตามฐานเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคเป็นสำคัญ

“ผมไม่อยากให้ประเทศมีข้อครหาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะถึง กลายเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกอีกครั้งเหมือนปี 2562 สังคมไทยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง มีแบบอย่างการแบ่งเขตที่สอดคล้องกับพื้นที่มากมายให้นำมาเป็นบทเรียนได้ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีอยู่ 400 เขต ประเทศไทยก็เคยผ่านมาแล้ว หากแบ่งเขตได้อย่างเป็นธรรม ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ยังกล่าวต่อไป ถึงกรณีการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ซึ่ง กกต. อ้างว่าไม่อาจทำได้เพราะใช้งบประมาณมากเกินไป โดยรังสิมันต์กล่าวว่าที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติงบประมาณให้ กกต. ถึงเกือบ 6 พันล้านบาท เป้าหมายหนึ่งก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด หากการประกาศผลการเลือกตั้งสามารถเป็นไปแบบเรียลไทม์ได้ การทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ แบบที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็น ไฟดับระหว่างนับคะแนน การแอบสลับหีบ ย้ายหีบ หรือการทุจริตในรูปแบบอื่นๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนจำนวนมากจะเห็นผลการเลือกตั้งไปพร้อมๆ กัน

การประกาศผลแบบเรียลไทม์ คือระบบที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ด้วยเทคโนโลยีที่ประเทศไทยมีในวันนี้ รวมถึงอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง และการที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากสำหรับการประกาศผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า กกต. อยากทำหรือไม่ ตนมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทุกคนอยากรู้ผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์หมด ไม่มีใครอยากเห็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น การทราบผลได้ทันทีเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การที่ กกต. ออกมาอ้างว่าจะไม่ให้มีเพราะราคามันแพงเกินไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

“ประชาชนเป็นเจ้าของเงิน เขาอยากเห็นการเลือกตั้งที่สุจริต ถ้าเราใช้เงินไปกับการสร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผมเชื่อว่าประชาชนก็เอาด้วย แต่ถ้า กกต. บอกว่าไม่อยากทำ ผมกลับมีความรู้สึกว่า กกต. ต้องการช่วยใครหรือไม่ มันคือการที่ กกต. ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง กำลังบอกว่าไม่อยากให้มีเครื่องมือที่สร้างความสุจริตโปร่งใสต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ตกลงคุณกำลังทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ประชาชน หรือพรรคการเมืองบางพรรค คนบางคนหรือไม่” รังสิมันต์กล่าว