ไม่พบผลการค้นหา
Mekong River Commission : MRC ลงพื้นที่แม่น้ำโขงร่วมกับไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเจ้าหน้าที่ จากประเทศเมียนมา และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจากประเทศจีน ศึกษาผลกระทบแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 วินัย วังพิมูล วิศวกรโยธาชานาญการพิเศษ กองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่าน ดร. อนุรักษ์ กิตติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO)สำนักเลขาธิการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) พร้อมเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิค ของสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ประกอบไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเจ้าหน้าที่ จากประเทศเมียนมา และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจากประเทศจีน ได้ร่วมคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีวัดน้ำและปริมาณน้ำแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดวัดระดับน้ำแม่น้ำโขงในภาคเหนือของไทย

 “โครงการศึกษาร่วมกันเรื่องระดับน้ำปริมาณน้ำโขงนี้ เป็นการศึกษาร่วมกันของ MRC และกลุ่มความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation : LMC) ได้ศึกษาจบระยะแรก (ปี 2022) โดยจะเปิดเผยผลการศึกษาร่วมกันในเร็วๆ นี้ ที่จะบอกข้อมูลถึงปริมาณที่มีอยู่ ว่าปริมาณน้ำที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยใดบ้าง การปิด-เปิดน้ำจากเขื่อน ปริมาณการใช้น้ำแต่ละพื้นที่ และจากสภาพภูมิอากาศ หรือปัจจัยอื่นอีกบ้าง” วิจัย กล่าว

วินัยกล่าวว่า ในปีนี้ได้เริ่มศึกษาร่วมกันในระยะ 2 ซึ่งจะศึกษามุ่งไปที่ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และจากโครงการก่อสร้างในแม่น้ำโขงที่มีเขื่อนอยู่หลายแห่ง

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ 'ครูตี๋'ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบปะกับคณะจาก MRC และนักวิจัย ตัวแทนจาก LMC จึงได้เสนอข้อห่วงกังวลต่อคณะว่าชาวบ้านลุ่มน้ำโขงมีข้อห่วงใยการขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติของแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ หน้าฝนน้ำไม่หลาก หน้าร้อนน้ำไม่แห้ง ขณะที่ฤดูกาลมีผลต่อสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิต และคนลุ่มน้ำ ไม่เพียงแต่เรื่องปริมาณอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องการให้การศึกษา MRC และ LMC ใส่ใจและสนใจศึกษาข้อมูลความสัมพันธ์ของแม่น้ำกับระบบนิเวศด้วย

นิวัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้การปิด-เปิดเขื่อน น้ำขึ้น-น้ำลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล และมีการขึ้นลงแบบผันผวนทั้งระดับน้ำและช่วงเวลา ยังส่งผลกระทบต่อสันฐาน หรือตลิ่งและดอนทราย และเมื่อเปลี่ยนไปก็กระทบกับเรื่องการแบ่งเขตแดนของเกาะดอนในแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดน และความไม่ชัดเจน ที่ยึดถือสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1893 ที่ยังมีความไม่ชัดเจนระดับพื้นที่ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงอยู่เป็นระยะที่ยังไม่มีวิธีการชัดเจนในการยุติข้อขัดแย้ง ดังนั้นในเรื่องแม่น้ำโขงจึงมีหลายมิติที่ต้องเข้าใจและศึกษาผลกระทบ อยากฝากให้ MRC และ LMC เห็นข้อกังวลและหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ดร. อนุรักษ์ กล่าวว่า โครงการศึกษาข้อมูลระดับและปริมาณน้ำโขงร่วมกัน เกิดจากทาง เมียนมา และ จีน ได้มาเป็นประเทศคู่เจรจา(Dialog Partners )ใน MRC ทาง MRC จึงได้ชวน 2ประเทศได้มาพัฒนาโครงการศึกษาร่วมกันก่อน แม้ยังไม่ได้ร่วมเวทีแต่มีโอกาสศึกษาข้อมูลให้เป็นชุดเดียวกัน ส่วนจะพัฒนาอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องอนาคต