ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกวนกลับมาสู่ขาลง ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวในทุกภูมิภาค ทั้งยังมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ บรรดาผู้ประกอบการและบริษัทต่างๆ ล้วนพาเหรดรับผลกระทบกันถ้วนหน้า
รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) คาดการณ์ไว้ว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ จะช่วยปลดล็อคและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั่วโลกได้มากถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 32,717 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี
มูลค่าเม็ดเงินที่คาดจะไหลเข้ามาระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ทุกองค์กร ไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ มีความจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านรวมถึงเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในวงเสวนาถกประเด็น 'การเตรียมธุรกิจให้พร้อมรับมือกับ AI’ (Step-by-step: Preparing your Business for AI) ที่จัดโดย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งประกอบไปด้วย ฮยง เอส คิม ผู้อำนวยการโครงการซีเอ็มเคแอล, ต่อตระกูล คงทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ลอจิสติกส์ จำกัด และ ธีรพันธ์ุ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ทั้ง 3 ย้ำว่า แท้จริงแล้ว AI ไม่ใช่สิ่งวิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงเครื่องมือที่บริษัทหรืองค์กรต่างๆนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่แล้ว
“ปัญหาก็คือผู้คนคิดว่าเอไอจะแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้เสมือนกับมันมีเวทมนต์ ซึ่งจริงๆ แล้ว AI คือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าใจรูปแบบหรือค้นพบอะไรก็ตามที่มันจะค้นพบแค่นั้น อยู่ที่ว่าคนจะเอาไปใช้อย่างไร” ศาสตรจารย์ฮยง กล่าว
นายต่อตระกูล ชี้ว่า สิ่งสำคัญประการแรกในการทำธุรกิจในยุคที่แวดล้อมไปด้วยนวัตกรรมใหม่ คือการรู้จักตัวเอง รู้ว่าบริษัทมองอะไร รู้ว่าแผนในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร หากเราจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้นั้นต้องพึ่งปัญญาประดิษฐ์ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้ แต่ไม่ใช่เป็นการมองว่า เพราะตลาดกำลังมีเอไอตัวนี้ บริษัทจึงต้องมีด้วยซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับบริษัท
เมื่อมองต่อว่า หากธุรกิจต้องการความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์จริง อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ นายธีรพันธ์กล่าวว่า การที่บริษัทจะยืนหยัดแข่งขันอยู่ในสนามรบได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่ใช่ไปซื้อมา เพราะหากบริษัทเราซื้อได้บริษัทคู่แข่งย่อมซื้อได้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่บริษัทต้องตระหนักคือ การมีเงินไปซื้อเทคโนโลยีมาใช้นั้นอาจเป็นการปรับตัวที่ดีในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทควรลงทุนคือทรัพยากรบุคคล การที่บริษัทมีคนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ปัญหาของบริษัทได้นับเป็นการถือครองทรัพย์สินรวมถึงโอกาสในการเติบโตของบริษัทมากกว่าการถือครองเทคโนโลยีนั้นๆ จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทต้องย้อนกลับไปมองบุคลากรของบริษัทตนว่ามีคุณภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีได้หรือไม่ หากไม่ได้ บริษัทจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อหาบุคคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน
คำถามสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในขณะนี้อาจไม่ใช่ เทคโนโลยีอะไรที่ควรมี นวัตกรรมใหม่ไหนที่ต้องซื้อ แต่เป็นบริษัทจะหาบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาให้ตอบโจทย์กับความท้าทายที่กำลังรออยู่ได้จากไหนและอย่างไร เพราะการมีคนผลิตเทคโนโลยีย่อมดีกว่าการมีแค่เทคโนโลยีในครอบครอง