ไม่พบผลการค้นหา
ศิลปินสายเลือดมอญ เกิดไทย โตไทย ย้อนเล่าปมในใจตลอด 22 ปี ก่อนจะได้ถือสัญชาติไทย ตลอดจนผลงานศิลปะสื่อผสมสะท้อนเรื่องราวของ ‘แรงงานอพยพ’ ที่มักถูกมองว่าเป็น ‘คนไร้ตัวตน’ ในสังคมไทย

หากเลือกได้ คงไม่อยากใครอยากพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอน ที่ซึ่งอาศัยและเติบโตมาแต่ยังเล็ก แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคั้น และโดนรังแกแทบทุกวิถีทาง นั่นทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะจากแผ่นดินเกิดมา

เขาเรียกเราออกไปนอกแถว เขาดึงเราแบบนี้ (ดึงหลังคอเสื้อ) ด้วยความที่เขาเป็นตำรวจชายแดน เขาก็บอกว่า เนี่ย โคตรพ่อ โคตรแม่ของไอ้พวกนี้แหละที่เอายาบ้าเข้ามาขาย ลักลอบเข้ามาในประเทศเรา ตอนนั้นเรารู้สึกแย่มาก ว่าทุกคนมองเรา ว่าเรา แล้วคิดเหมารวมเราเป็นแบบนั้นไปแล้ว”

บทสนทนาส่วนหนึ่งระหว่าง Voice On Being และ ศร-ศรชัย พงษ์ษา ศิลปินจัดวางที่กำลังมาแรงคนหนึ่งในประเทศไทย และสร้างสรรค์ผลงานดังไกลถึงต่างแดน ช่างเป็นบทสนทนาที่เราก็ไม่แน่ใจนักว่าควรจะรู้สึกยังไง

สะเทือนใจกับสิ่งที่มนุษย์ทำกับเพื่อนมนุษย์

หรือชื่นชมเด็กหนุ่มตรงหน้า ตัวเล็ก แต่มีแววตาของนักสู้ที่แสนจริงใจ ลูกของผู้ลี้ภัยชาวมอญ ที่แม้ตัวเขาจะเกิดในประเทศไทย แต่กลับต้องดิ้นรนขอสัญชาติยาวนานกว่า 22 ปี

ศรชัย2.jpg
  • ศรชัย พงษ์ษา กับผลงานของเขาบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

จากเด็กตัวเล็กที่เอาข้าวโพดมาเล่นแทนตุ๊กตา เอากิ่งไม้มาสร้างบ้าน เพราะไม่มีบ้าน ปัจจุบัน ศรมาไกลจนสามารถมอบหน้าที่ให้ศิลปะเล่าเรื่องแทนตัวเขาเอง

งานจัดวางชิ้นล่าสุดของศรบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร คืองานที่เขา – และแรงงานผู้ลี้ภัย ร่วมกันจัดสร้างขึ้นภายใต้โครงการบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ภาพโครงสร้างนั่งร้านจากไม้ไผ่ ที่ครอบคอนเทนเนอร์ ซึ่งภายในบรรจุสัญลักษณ์ความเชื่อภูต ผี คือทั้งหมดในใจที่ศรอยากจะเล่า และอยากจะต่อสู้แทนผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสเท่าเขา

ถ้าอยากจะรู้ว่าศรจะเล่าอะไร…

คงต้องลองตามมาอ่านกันอย่างลึกซึ้งเท่านั้น


เล่าให้ฟังหน่อย ว่าเป็นใคร และทำอะไรอยู่

ศรชัย : สวัสดีครับ ผมศรชัย พงษ์ษา อายุ 27 ปี ตอนนี้เป็นศิลปินอิสระครับ แต่จริงๆ แล้วศิลปินไม่ใช่อาชีพนะ ผมยังตอบไมได้เลยว่า อาชีพศิลปินเป็นยังไง เพราะอาชีพต้องได้เงินใช่ไหมครับ แต่ศิลปินเป็นอาชีพเดียวที่บางครั้งได้เงิน บางครั้งก็ไม่ได้ บางครั้งเงินได้มาก็ต้องเอาไปจัดสรรการทำงานศิลปะ เลยไม่กล้าเรียกว่ามันคืออาชีพศิลปิน

ตั้งแต่ทำงานด้านชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย หรือแรงงาน เรารู้สึกว่าจิตรกรรม ปฏิมากรรม มันเริ่มไม่เพียงพอที่จะพูดถึงตัวเขา เราเลยใช้การ Combination (ผสมผสาน) มากกว่าหนึ่งอย่าง ใช้สื่อ 2 อย่าง จึงเรียกว่าสื่อผสม


งานชิ้นล่าสุดของคุณในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 บอกเล่าเรื่องอะไรบ้าง

ศรชัย : งานชิ้นนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานต่างด้าว และศิลปิน วิธีการทำงานของผมคือ ผมจะเริ่มต้นจากการหาข้อมูลก่อนว่า พื้นที่ที่ผมมาทำงานศิลปะอย่างกรุงเทพฯ เรารู้กันดีว่ามันเป็นสถานที่ที่มีการหลั่งไหลของแรงงานมากที่สุด และมันก็ Relate (เชื่อมโยง) กับตัวเราเองด้วยว่า เราก็เคยเป็นแรงงานต่างด้าวมาก่อน มันก็เลยกลายเป็นไอเดียของงานชิ้นนี้ครับ ‘ผีในเมือง’ หรือ ‘Alien Capital’ 

ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องผีในเมืองในรูปแบบของการเคารพ กราบไหว้บูชา แต่ว่าเป็นลักษณะของการไม่มีตัวตน การมองไม่เห็นของผี ซึ่งผีคือสิ่งที่แรงงานต่างด้าวเขาเชื่อถือ มันก็ไม่ได้ต่างจากสถานะทางสังคมของแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย เขาก็ไม่มีตัวตนเหมือนกัน


ทำไมถึงเลือกสื่อสาร ‘ผีในเมือง’ ผ่านโครงสร้างนั่งร้านขนาดใหญ่ และการถักทอเส้นสายสีแดง

ศรชัย : งานชุดนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือไม้ไผ่ลักษณะเป็นนั่งร้าน ซึ่งสร้างขึ้นด้วยแรงงานต่างด้าว จำลองงานก่อสร้างปกคลุมตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนคอนเทนเนอร์ด้านในโชว์วิดีโอสารคดี ที่เก็บมาระหว่างแรงงานมาทำงานให้เรา บัตรต่างด้าว หรือสิ่งต่างๆ ที่พูดถึงตัวเขา

งานศรชัย.PNG

เราไม่เปิดเผยตัวตนของเขา แต่บ่งบอกตัวตนของเขาด้วยเลขประจำตัวประชาชน หรือลายนิ้วมือ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือวิธีการที่มนุษย์จำแนกเผ่าพันธุ์ จำแนกประเภทคน เราเลยเล่นกับวิธีการ Identify (ระบุตัวตน) คนกับผี


ทำไมคุณคิดว่า ผู้อพยพ = ผู้ไร้ตัวตน

ศรชัย : กรณีผม มีหลายๆ ครั้งที่รู้สึกว่า เราเก็บงำว่าเราเป็นใครมาจากไหน เราปิดบังตัวตนเวลาออกสื่อ การไปโรงเรียนในวัยเด็ก รู้สึกว่ามีความสุขมากกับการได้เจอเพื่อน แต่ก็มีบางครั้งที่รู้สึกว่าเราไม่มีเพื่อน ระแวงที่จะเจอเพื่อน

เหตุการณ์หนึ่ง ตอนนั้นจำได้ว่า มันมีโครงการอบรมเกี่ยวกับยาเสพติดที่โรงเรียน มีการให้ตำรวจชายแดนมาพูดถึงยาเสพติด เขาถามว่า ในโรงเรียนนี้มีใครไม่ใช่คนไทยบ้าง ทุกคนรู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน แล้วก็มองที่เรา มันก็เหมือนกับสถานการณ์บังคับให้เราเปิดเผยตัวตนออกมาว่า เราไม่ใช่คนไทย เขาก็เรียกเราออกไปนอกแถว เขาจะดึงเราแบบนี้ออกมา (ดึงหลังคอเสื้อ) เขาก็บอกว่า เนี่ย โคตรพ่อโคตรแม่ของไอ้พวกนี้แหละที่มันเอายาบ้าเข้ามาขาย ลักลอบเข้ามาในประเทศเรา

ตอนนั้นเรารู้สึกแย่มากว่า ทุกคนมองเรา เหมารวมเราไปแล้ว ทั้งๆ ที่ เราไม่ได้เกี่ยวข้องเลย หลังจากนั้นมาเราก็กลัวการที่จะต้องออกไปแสดงตัวตนหรือทำอะไรที่โดดเด่น เพราะหลังจากนั้นเพื่อนที่โรงเรียนเราก็ล้อเรามาตลอดว่าเราเป็นเด็กพม่า ไอ้เด็กต่างด้าวอะไรแบบนี้

ศรชัย2.PNG
  • ศรชัย ถักทอเส้นด้ายสีแดงเป็นรูปร่าง แทนความเชื่อเรื่องของภูตผี ที่เป็นความเชื่อหนึ่งที่แรงงานอพยพให้ความนับถือ

แสดงว่าการที่ถูกตราว่าไม่ใช่คนไทย เหมือนเป็นปมในใจมาตลอด

ศรชัย : ตอนนั้นคำพวกนี้มันบาดลึกเรามากเลยนะ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันก็คนเหมือนกันนี่แหละ มันกลายเป็นว่านี่คือสิ่งที่เราปิดบังมาตลอด อยู่กับสิ่งที่รู้สึกแบบนี้มาตลอด 20 กว่าปี จนกระทั่งเราได้บัตรประชาชน เรารู้สึกว่าเราเหมือนเป็นคนใหม่


ทำไมคุณถึงต้องใช้เวลากว่า 20 ปีจึงจะได้บัตรประชาชน ทั้งๆ ที่คุณเกิดในแผ่นดินไทย

ศรชัย : พ่อผมเป็นคนมอญ คงต้องใช้คำว่าลักลอบเข้ามาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1979 ตอนนั้นพ่อก็ยังเป็นหนุ่มอยู่ แล้วก็ด้วยการที่ช่วงนั้นการเมืองเมียนมา รัฐเขาเข้ามาควบคุมรายได้ชนกลุ่มน้อย พ่อรู้สึกว่าทนอยู่สภาพสังคมแบบนั้นไม่ได้ เลยตัดสินใจที่จะใช้ความเชื่อที่ว่า ไปตายเอาดาบหน้า หนีตามเพื่อนๆ มาครับ โดยอพยพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็เริ่มย้ายเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ไปไทรโยคน้อย แล้วผมก็เกิดที่ อ.ไทรโยคน้อย เกิดที่หมู่บ้านชาวมอญ ด้วยหมอตำแยประจำหมู่บ้านชื่อป้าราตรี

จากจุดนั้นทำให้ผมโตมาโดยไม่มีใบเกิด ผมก็เลยต้องมีการดิ้นรนต่อสู้ให้ได้มาเพื่อสัญชาติไทย


ดิ้นรนยังไงบ้าง เล่าจุดเริ่มต้นให้ฟังหน่อย

ศรชัย : ผมเรียนในโรงเรียนของชนเผ่าที่ไทรโยค จนถึงป.3 จนรัฐบาลออกกฎหมายว่าจะขับไล่ผู้อพยพออก พี่สาวกับพี่ชายที่ทำงานอยู่โรงงานน้ำมันมะพร้าวไบโอดีเซล จังหวัดสมุทรสงคราม รีบเอาตัวเราไปอยู่ด้วย และให้เราได้เรียนโรงเรียนคนไทยล้วน เราเป็นคนเดียวที่เป็นคนมอญในโรงเรียน เรียนถึง ม.6 ระหว่างที่เรียนเราก็ยังทำงานเป็นกรรมกรแบกหามมะพร้าวหลังเลิกเรียน เสาร์-อาทิตย์รับจ้างทั่วไป จนกระทั่งอายุ 15 เราเริ่มประกวดวาดรูป เราส่งประกวดแล้วได้เงินที่สามารถที่จะสร้างทุนการศึกษาด้วยตัวเอง

ตอนนั้นเราไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เราไม่สามารถขอทุนการศึกษาได้ เราเลยจำเป็นต้องทำงานเสริม ชีวิตเริ่มเปลี่ยนตอนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เราสอบติดคณะจิตรกรรม ปฏิมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ทางคณบดีต้องการให้เราเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ก่อน เพราะไม่อยากให้เราเรียนไปแล้วไม่มีวุฒิการศึกษาแบบที่ผ่านๆ มาเราเลยต้องกลับไปที่เราเกิด


กลับไปทำอะไร

ศรชัย : ไปตามหาป้าราตรี (หัวเราะ) ไปตามหาพยานบุคคคลที่รู้เห็นการเกิดของเรา โชคดีมากที่ตอนนั้นเราได้พบเจอคนที่เขาเอาเอกสารเรื่องพ.ร.บ.ขอสัญชาติให้เรา ให้เราได้ศึกษา เราเห็นช่องทางว่าเราตรงตาม Condition (เงื่อนไข) ของการขอสัญชาติ คือต้องเกิดในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2530 ขึ้นไป มีพยานรู้เห็นการเกิด 5 คน พ่อ-แม่ต้องถือบัตรผู้พลัดถิ่น แล้วก็เป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้สังคม ชุมชนที่เราอยู่ ประกอบกับที่ผมประกวดวาดรูปแล้วได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็เป็นไปตามเงื่อนไข ผมใช้เวลาอีก 2 ปี แล้วได้สัญชาติไทยตอนอายุ 22


ดูเหมือนว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ง่ายเลย

ศรชัย : นี่เป็นระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ก่อนหน้านั้นผมยังวนเวียนในวงจรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เราต้องจ่ายเงินทุกปีๆ ละ 2 หน 5,000 บาทต่อคนให้นายหน้า ทุกวันนี้ พี่สาวผมก็ยังไม่ได้บัตรประชาชน และยังอยู่ในวงจรนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการทางกฎหมายค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงขนาดนั้น อย่างครอบครัวผม พ่อเองก็ไม่มีใครรู้ว่าต้องจ่ายให้ใครยังไง มีแต่ความเชื่อที่ว่าจ่ายครบ 10 ปีแล้วจะได้สัญชาติไทย

ศรชัย.PNG

ล่าสุด ผมพาพี่สาวไปทำบัตรตามกระบวนการที่ผมทำ ปรากฏว่ามันดันไม่เหมือนกัน เพราะว่าพี่สาวผมจ่ายเงินโดยไม่รู้ว่าจ่ายให้ใคร พอไปลงทะเบียนในระบบ ปรากฏว่าเขาไปอยู่ในทะเบียนบ้านใครไม่รู้ ผมมองว่าน่าจะเป็นในเรื่องของการขายเลขทะเบียนบ้าน แล้วเราก็ไม่รู้เราจะไปเริ่มยังไงแล้ว เพราะเราไม่รู้เราจ่ายเงินให้ใคร พี่สาวจ่ายมา 30 กว่าปีแล้วครับ


แล้วทำไม ถึงไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายแต่แรก

ศรชัย : ปัญหาจริงๆ มันคือการเข้าถึงกฎหมายน่ะครับ เพราะว่าชาวบ้าน ลองนึกภาพแรงงานต่างด้าวในป่าจะเข้าถึงกฎหมายแบบนั้นได้ไง มันมีกำแพงภาษา และการเข้าถึงข้อมูล มันเป็นไปได้ยากมากว่าเขาจะเริ่มต้นจากจุดไหนก่อน ผมก็เสียเวลาอยู่กว่า 20 ปีนะ กว่าที่จะรู้ว่ามีพ.ร.บ.สัญชาติ

คุณครูจะคอยบอก เรียกเราไปคุยที่ห้องปกครอง บอกว่าคุณต้องเรียนต่อ สมัครเรียน แต่ไม่มีใครบอกเราเลยว่าวิธีการที่จะได้มาเป็นยังไง ทุกคนมีแต่ต้องการให้เราทำมา สร้างให้มันมีขึ้นมา ซึ่งมันก็มีทั้งหนทางผิดกฎหมาย ถูกกฎหมาย


เพื่อนรุ่นไล่ๆ กันกับคุณที่เกิดในแผ่นดินไทย ส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติไทยกันไหม

ศรชัย : น้อยครับ จริงๆ แล้วทุกวันนี้เพื่อนยังต้องอยู่ในระบบของการจ่ายเงินให้นายหน้าอยู่ บางคนก็ได้แล้วนะ บางคนก็แต่งงานกับคนไทย ดำเนินการตามขั้นตอน 

แต่เรารู้สึกว่า เราเสียดายมากเลยที่วันหนึ่งเรากลับบ้าน ไปยังหมู่บ้านที่เราเคยอยู่ และพบว่าคนเหล่านั้นผันตัวไปอยู่ในวงจรของการค้าแรงงาน เพราะเขามองว่า ไม่อยากลงทุนกับการศึกษา จบออกมาแล้วไม่มีวุฒิการศึกษา ทางเลือกเลยมีแค่ไปค้าแรงงานแล้วก็มีครอบครัว แค่นั้นเอง

เสื้อแรงงาน2.PNG
  • ชุดทำงานนี้ เป็นชุดที่ศรชัยนำมาให้แรงงานข้ามชาติ 4 คนที่มาช่วยสร้างผลงานสวมใส่ระหว่างปฏิบัติงาน โดยระบุเลขประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ที่ได้สัญชาติแล้ว เขาเล่าว่า เลขประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 8 คือเลขของผู้แปลงสัญชาติมา

แล้วทำไมคุณถึงไม่ล้มเลิกความฝันในการเรียน ทั้งๆ ที่เรียนไปก็ต้องทำงานหนักไปด้วย

ศรชัย : ตอนผมเป็นเด็ก ก็ไม่มีต้นแบบว่าทำแบบนี้ แล้วผลลัพธ์เป็นแบบนี้ เราได้แต่ค้นคว้าด้วยตัวเอง ลองผิด ลองถูกทุกรูปแบบ โชคดีที่เรามีใจรักเรียน เราชอบไปโรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน เพราะสังคมที่เราอยู่ที่บ้านมันก็คือสังคมของแรงงาน อยู่ในห้องคนงานที่แออัด สกปรก คับแคบ

เราเลยคิดว่า เราจะผลักตัวเองออกจากตรงนั้นให้ได้มากที่สุด หนทางหนึ่งคือไปโรงเรียน ดังนั้น มันเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้เราได้ค้นพบอีกสังคมหนึ่ง ทำให้เราอยากที่จะไปเรียนทุกวัน จากจุดเล็กๆ นี่แหละทำให้เราพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ แล้วก็ทำในสิ่งที่เรารัก ก็คือศิลปะมาเรื่อยๆ

จนกระทั่ง ศิลปะมันนำพามาถึงจุดที่เราต้องการ นั่นคือการพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนไทย


เชื่อว่าสักวันหนึ่ง คุณคงอยากเห็นผู้ไร้สัญชาติ มีสิทธิ์ มีเสียงอย่างเท่าเทียมในแผ่นดินเกิดเดียวกันนี้

ศรชัย : เรามองว่า คนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ สามารถอยู่ร่วมกันได้ถ้ามีคว���มเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันก็ต้องเคารพกฎ

ปัญหาของเด็กที่ไม่ได้เกิดในแผ่นดินของพ่อ-แม่ เขาไม่สามารถกลับไปอยู่ประเทศต้นทางได้ เขาอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ใช่คนไทย เขาก็ต้องต่อสู้กับจุดนี้เพื่อเป็นคนไทย เราคิดว่ามันน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ ง่ายกว่านี้ ในการพิสูจน์คนๆ หนึ่งว่าเป็นคนไทย

เพราะระหว่างทางมันต้องผ่านอะไรมามากมายที่จะแบ่งแยกว่า อันนี้ต่างด้าว อันนี้คนไทย จริงๆ แล้วทุกวันนี้ปัญหามันมีอยู่แต่มองไม่เห็นหรอก ถ้าเราไม่ได้ไปอยู่ในสถานการณ์จริงๆ มันเหมือนมีการแบ่งแยกไปโดยอัตโนมัติ


สุดท้ายมีอะไรลึกๆ ในใจ ที่อยากจะพูดไหม

ศรชัย : รู้สึกว่า ถ้าเราให้โอกาสในการเป็นมนุษย์กับตัวเรา ก็ควรให้โอกาสกับคนอื่นเช่นกันครับ

ศรชัย3.PNG

หมายเหตุ : ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกระบวนการขอสัญชาติที่ยากลำบากและเข้าถึงได้ยาก เพราะไม่มีการให้สัญชาติตามหลักดินแดน หากเด็กเกิดจากพ่อ-แม่ที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย แม้เกิดในแผ่นดินไทย ก็จะต้องถือสัญชาติตามพ่อ-แม่ และดำเนินการพิสูจน์สัญชาติตาม พ.ร.บ. สัญชาติ

On Being
198Article
0Video
0Blog