ไม่พบผลการค้นหา
'ชาดา' ตรวจราชการระนอง ก่อนประชุม ครม.สัญจร ติดตามความคืบหน้า โครงการนำร่อง "ชุมชนยั่งยืนบ้านเกาะสินไห" บำบัดผู้เสพยา คืนคนทำงานสู่สังคม

22 ม.ค. 2567 ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะที่ปรึกษาของ รมช.มหาดไทย นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และคณะตรวจราชการ ความคืบหน้า โครงการนำร่อง ชุมชนยั่งยืนบ้านเกาะสินไห อ.เมือง จ.ระนอง ตามนโยบายรัฐบาล มุ่งแก้ปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นโมเดลการแก้ปัญหายาเสพติด ที่นายชาดา ได้มอบนโยบายไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ชุมชนยั่งยืน เอ็กซเรย์หาตัวผู้เสพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด 

สำหรับโครงการชุมชนยั่งยืน บ้านเกาะสินไห จากผลการดำเนินการค้นหาผู้เสพ X-ray จากกลุ่มเป้าหมาย พบสารเสพติด และสมัครใจเข้ารับการบำบัด จำนวน 87 คน ซึ่งผลการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาทางการแพทย์ ผ่านศูนย์คัดกรอง เพื่อจัดระดับความรุนแรง แบ่งแยกประเภท เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ผลการประเมินอยู่ในกลุ่มดี ทั้งหมด ผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่มีกลุ่มต้องปรับปรุง และผู้ป่วยจิตเวช

นอกจากนี้ โครงการยังมอบป้ายครัวเรือนสีขาว จำนวน 269 ครัวเรือน และมอบบัตรพลเมืองสีขาว จำนวน 695 คน สะท้อนว่าคนในชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก การป้องกัน เป็นและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ ก่อให้เกิดกระบวนการป้องกัน แก้ไข และการบำบัดยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เกิดการสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับหลักศาสนา วิถีชีวิต ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ชาดา ระบุว่าโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นนโยบาย ที่รัฐบาล หวังป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศให้หมดสิ้นไปในทุกมิติ โดยมีเป้าหมาย  ที่ชัดเจน คือ การลดการใช้ยาเสพติดในสังคม ระดับชุมชน โดยการประยุกต์ใช้มาตรการจัดการกับปัญหายาเสพติด โดยถือประโยชน์ และความเป็นไปได้ของชุมชนเป็นหลัก และความร่วมมือของส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ที่สำคัญคือประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน จะต้องช่วยกันให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติด

สถานการณ์ยาเสพติดปัจจุบัน ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ยาเสพติด ยังเป็นความเสี่ยง ที่มีผลกระทบต่อสังคม และส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงในชุมชน การลักลอบการกระทำความผิดกฎหมาย เกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งที่เป็นผู้ค้า ผู้จำหน่าย ผู้เสพ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

การใช้ยาเสพติด มีผู้ใช้ที่หลากหลายอายุ ทำให้สังคมทุกระดับต้องร่วมมือกันในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้วยการ “แยกน้ำ แยกปลา” ระหว่าง ผู้ค้า ผู้เสพ จะต้องพิจารณาตามหลักการ และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และนโยบายของรัฐบาล โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชน จะได้รับจากการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน ในสังคม 

รวมถึงการสนับสนุนผู้ใช้ยาเสพติดให้สามารถเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม การสร้างทักษะ และสร้างอาชีพหลัก อาชีพเสริม ที่ช่วยให้ผู้ใช้ยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา มีอาชีพที่สามารถทำงานได้ มีรายได้ที่สุจริตมากขึ้น มีโอกาสทางสังคมที่ดีขึ้น มีการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ครอบครัว และสังคม