ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชน สะท้อนลงทะเบียนโครงการ ‘เราชนะ’ ซ้ำซ้อน เปรียบเหมือนการ ‘โปรยทาน’ วอนเยียวยาให้ตรงจุด หลังกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษแห่ลงทะเบียนวันแรกแน่นธนาคารกรุงไทย

ภายหลังที่เปิดให้ประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่เข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต หรือ สมาร์ตโฟน สามารถลงทะเบียนขอรับการเยียวยาในโครงการ ‘เราชนะ’ ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทั้งประเทศวันนี้ (15 ก.พ. 2564) เป็นวันแรก พบว่า มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปลงทะเบียนต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่สาขายังไม่เปิดทำการ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟน


ลงทะเบียนซ้ำซ้อน

หนึ่งในผู้ที่พาแม่ซึ่งต้องนั่งรถเข็นมาลงทะเบียนวันนี้ ระบุว่า เดินมาถึงธนาคารกรุงไทย สาขาสะพานขาว ในเวลา 07.00 น. ซึ่งตนเองมีบ้านอยู่มีนบุรี แต่ต้องมารับแม่ที่อยู่แยกมหาราช เพื่อพามาลงทะเบียนรับสิทธิดังกล่าว โดยเธอมองว่าการลงทะเบียนครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากต่อทั้งตนและแม่ของเธอ ถือเป็นการลงทะเบียนที่ซ้ำซ้อน ไม่สะดวกต่อผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น ทั้งที่รัฐบาลมีข้อมูลอยู่แล้ว จากการสำรวจผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เหตุใดจึงไม่นำข้อมูลที่มีอยู่แล้วออกมาใช้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดความแออัด ณ จุดที่ลงทะเบียน

vox pop เราชนะ

โดยส่วนตัวมองว่าหน่วยงานรัฐมีบุคลากรมากเพียงพอ ในเมื่อมีสถิติในการสำรวจ มีจำนวนคน และมีกลุ่มประเภทที่ชัดเจนตามที่ได้สำรวจเอาไว้ ดังนั้นควรช่วยเหลือให้ตรงจุด รวมถึงเปิดการลงทะเบียนแบบกระจายมากกว่า เช่น ถ้าเป็นคนบ้านยากไร้ ไม่มีบ้านก็ควรมีจุดบริการ อาทิ บริเวณพื้นที่สนามหลวง เพื่อให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงการช่วยเหลือได้ครบถ้วน และสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในพื้นที่รอบๆที่เขาอยู่ได้เลยน่าจะมีความสะดวกมากกว่า

“จริงๆเขามีการสำรวจคนแก่ คนพิการ หรือว่าคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แบบนี้ มันมีรายละเอียดตรงนี้ที่เขาทำกันซ้ำซ้อนกันอยู่ ทำไมไม่เอาข้อมูลตรงนั้นมาใช้”


‘เยียวยา’ ไม่ใช่ ‘โปรยทาน’

นอกจากนี้ประชาชนยังมองว่า การเยียวยารอบนี้ผ่านโครงการ ‘เราชนะ’ คือ ‘สวัสดิการ’ ซึ่งสวัสดิการคือการช่วยเหลือแบบตรงจุด เปรียบเสมือนของขวัญ หรือเป็นอะไรที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือ ต้องมาต่อคิว มาแย่งคิว และต้องมารอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงจุด รัฐควรจะทันสมัยเหมือนที่ประกาศไว้ แต่กลับเป็นว่ายิ่งโฆษณาว่าทันสมัยเท่าไหร่ แต่การกระทำยิ่งตรงกันข้ามเท่านั้น ได้แต่บอกให้ประชาชนพัฒนา แต่รัฐบาลไม่ได้พัฒนาตามเลย

ขณะเดียวกันประชาชนมองว่า ระบบอินเตอร์เน็ตของไทยไม่ได้เสถียรมากพอที่จะรองรับการลงทะเบียนต่างๆ เพื่อเข้าถึงการขอรับสิทธิในการช่วยเหลือที่ผ่านมา เมื่อไม่ได้เสถียรก็เปรียบเสหมือนการ ‘โปรยทาน’ ให้กับประชาชน หรือนับเป็นเพียงการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ว่าจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ เป็นสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ หรือได้แต่เฝ้ารอ

“เขาเรียกว่าเหมือนพ่อแม่ให้ลูก ให้เอาไปแค่นี้นะ แต่ต้องมารายงานตัวก่อนนะ รู้สึกว่าเราเป็นเด็กนักเรียนอีกรอบ ถูกเช็คชื่อ ข้อมูลถูกต้องหรือไม่ แล้วเราจะให้คุณแค่นี้นะ คุณเอาไปใช้ แล้วเราให้ใช้แบบนี้นะ เรามองว่าอย่างคุณแม่อายุเยอะแล้ว เขาตัดสินได้”
vox pop เราชนะ


‘ย้อนแย้ง’ ลดเสี่ยงเลี่ยงโรค

หนึ่งในประเด็นที่ประชาชนสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ตรงจุด จากการที่รัฐบาลบอกว่าไม่ให้เป็นเงินสด เนื่องจากต้องการลดการสัมผัสเงิน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความเป็นจริงยังมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นภาพคนหมู่มากต้องมาแออัดเพื่อลงทะเบียนที่สาขาเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคือการช่วยเหลือแบบวงเงินไม่คลอบคลุมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย

“มันก็ค่อนข้างย้อนแย้งนะ เพราะบอกว่าไม่ให้เรามาอยู่รวมกันเพื่อจะป้องกัน แต่ที่มาออ แล้วก็นั่งติดๆกันแบบนี้ ถามว่าระยะห่างก็ไม่ได้ห่างนะ สมมติว่าคนนึงไอจามก็ติดได้เหมือนกัน มันตรงข้ามกับสิ่งที่พูด คือเราก็มองการพัฒนาก็คือระบบไม่พัฒนา พัฒนาแต่คำพูด”
vox pop เราชนะ

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนสำหรับประชาชนในกลุ่มดังกล่าวจากที่สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. เป็น 5 มี.ค. 2564 โดยประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับอนุมัติจะได้รับวงเงินสิทธิสนับสนุนเป็นรายสัปดาห์ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินผ่านบัตรประจำตัวประชาชน สำหรับการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการจากร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ร้านค้า ในโครงการคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ และผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถสะสมวงเงิน และใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 2564


ข่าวที่เกี่ยวข้อง