นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เสนอทางออกประเทศไทย ก้าวไปสู่ New Normal ด้วยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า เป็นเวลาผ่านมาแล้ว 7 สัปดาห์นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 และอีกประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะถึงคราวเปิดสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาอีกครั้ง
พรรคก้าวไกลยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาไม่ใช่การที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่คือการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีการวางแผนอย่างรอบคอบ มีการประเมินผลกระทบของมาตรการ ที่มีต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน พร้อมกับมีมาตรการเยียวยาประชาชนในแต่ละกลุ่มอย่างทันท่วงที พร้อมกับวางแผนในการรับมือต่อสถานการณ์ที่ผันแปรอย่างเพียงพอ มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างเข้าถึง
ดังนั้นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นยาวิเศษที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาทุกเรื่องได้อย่างหมดจด แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่รัฐมีไว้ใช้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์จำเพาะที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนปัญหาใหม่เกิดขึ้นและทวีความสำคัญแทนที่ปัญหาเดิม เมื่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดอีกต่อไป รัฐบาลก็จำเป็นต้องหาเครื่องมืออื่นมาใช้แทน
สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในรอบ 17 วันที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10 คนเกือบทุกวัน มีเพียงวันเดียวที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 18 คน แต่ก็เป็นการติดเชื้อในพื้นที่กักกันโรคซึ่งควบคุมอาณาบริเวณได้ มีจังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อเลยหรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 28 วันที่ผ่านมา 59 จังหวัด ตัวเลขเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ประชาชนได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างดีตามที่รัฐบาลเรียกร้อง
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 เดือนก่อนตอนที่ไวรัสระบาดเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อมันยังไม่มีชื่อ ทั้งรัฐและประชาชนต่างไม่รู้จักกับภัยคุกคามใหม่ชนิดนี้ เราต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องดิ้นรนหาทางแก้ไขเฉพาะหน้า ในวันที่ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประชาชนโดยทั่วไปก็ยอมที่จะสละเสรีภาพบางส่วนของพวกเขาไปเป็นการชั่วคราวด้วยหวังว่าจะเห็นสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าปัญหาที่กำลังลุกลามเข้ามาแทนที่คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสและมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะกับพี่น้องประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส และไม่อาจฟื้นตัวได้เองในเร็ววันหากปราศจากนโยบายรัฐ
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ในอดีตมามักบกพร่องเสมอในการเข้าใจใส่ใจ และแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม แต่รัฐบาลกลับยังคงพยายามให้ข้อมูล โดยเทน้ำหนักไปในทางที่ทำให้ประชาชนหวั่นวิตก ยกอ้างความกลัวการระบาดซ้ำ และกรณีตัวอย่างบางตัวอย่างที่ย่ำแย่มาเป็นตัวแทนของสถานการณ์ที่ดีขึ้น เพื่ออ้างเป็นเหตุในการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีกำหนดว่าจะยกเลิกเมื่อใด
หลายประเทศหล่อเลี้ยงประชาชน ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่น
ทั้งๆที่ มีกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่เราสามารถศึกษาเพื่อนำเอามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการได้ อย่างเช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเยอรมนี เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ ได้ผ่อนคลาย ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อน เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนได้ ภายใต้การควบคุมการระบาดที่พอดี แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นบ้าง แต่ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่น ก็สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการในพื้นที่ต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ เพื่อให้ขีดความสามารถทางสาธารณสุข ยังคงรองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้ โดยประชาชนสามารถใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคได้อย่างมีความตระหนัก โดยไม่ตระหนกหวาดกลัว
รัฐบาลต้องเลิกสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิด คิดว่าการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการควบคุมการระบาดของโรค เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโรค ได้โดยวิธีอื่น ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินการที่รัฐบาลยังคงดึงดันหาเหตุในการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปทั้งที่ไม่เหลือเหตุอันควรให้ใช้แล้วจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่า เหตุผลที่แท้จริงคือเรื่องทางการเมือง ทั้งการป้องกันไม่ให้ประชาชนสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการลุแก่อำนาจ ทั้งการป้องกันไม่ให้ประชาชนแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปกครองที่ออกโดยรัฐ
อ่านเพิ่มเติม