เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 รายงานข่าวแจ้งว่า พรรคเพื่อไทย ได้รับร่างหนังสือจัดทำข้อตกลง (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากพรรคก้าวไกลแล้ว โดยพรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นร่วมผู้ประสานงานกับพรรคก้าวไกล โดยจะเข้าหารือกับ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยหลังจากหารือกันเสร็จแล้ว จะมีการส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคดูว่า มีในส่วนใดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงมีส่วนใดที่ต้องนำเสนอเสริมเข้าไป
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นอีก 6 พรรค ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้รับร่างเอ็มโอยู แล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากรับมาแล้ว แต่ละพรรคก็จะทำความเห็นของตัวเองส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกล เพื่อหาจุดร่วมลงตัวของทุกพรรคร่วมรัฐบาล
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเอ็มโอยู ของพรรคก้าวไกล ที่ส่งไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ได้ระบุนโยบายต่างๆ ที่จะดำเนินการทันที เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล อาทิ เช่น พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นระบบสมัครใจ รวมถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่มีข้อถกเถียงจำนวนมากในสังคม เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ การนิรโทษกรรม ยังไม่มีการเขียนไว้ในเอ็มโอยู นี้ แต่จะมีการหารือเพื่อหาจุดลงตัวร่วมกันภายหลัง และทุกพรรคจะต้องร่าง เอ็มโอยู ที่เพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละพรรค และส่งกลับมายังพรรคก้าวไกลภายในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการร่วมลงนามเอ็มโอยูร่วมกันของทุกตัวแทนผู้บริหารพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับวันแถลงข่าวเปิดเผยข้อตกลงเอ็มโอยู ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ตรงกับวันที่ 22 พ.ค. ซึ่ง เป็นวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557