การประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อหารือเรื่องการประสานงานทางการเมืองและพิจารณาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เริ่มขึ้นเวลา 17.00 น. แต่เลื่อนออกไปเป็น 18.00 น. แต่เมื่อเวลา 18.15 น. ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีความชัดเจนในตัวเอง ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไม่สามารถให้คำตอบกับเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอได้ แต่ที่ตนไม่สบายใจที่สุดคือท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า จะมีส่วนร่วมในการคัดตัวรัฐมนตรีจากพรรคต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าเป็นก้าวก่าย ครอบงำ ชี้นำพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล
“เราจึงมีมติให้เลขาธิการพรรคไปประสานงานพูดคุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่า หากจะให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย จะให้พวกผมเข้าใจว่าอย่างไร แสดงว่าเขากำลังปฏิเสธข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดใช่หรือไม่ จึงอยากให้ประชาชนจับตามองว่าเกมต่อไปของการจัดตั้งรัฐบาลจขั้วพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรต่อไป ความผิดทั้งหมดไม่ใช่ของประชาธิปัตย์ แต่เป็นของแกนนำตั้งรัฐบาลที่มีปัญหาภายในพรรคตัวเอง” นายเทพไทกล่าวย้ำ
ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ออกจากห้องประชุม โดยตอบคำถามสื่อเพียงว่าไม่ทราบว่าเลื่อนการประชุมไปเป็นเมื่อไหร่ รอกรรมการบริหารพรรค
จากนั้นเวลา 18.35 น. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค แถลงว่า หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมีคำสั่งให้การนัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. พรรค เลื่อนออกไป เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ พปชร. ขอเชิญ ปชป. ร่วมทำงานและมีการคุยหลักการทำงานร่วมกันไว้หลายประเด็น คือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการนำนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติ เช่น การแก้จน สร้างคน สร้างชาติ และการประกันรายได้ของเกษตรกร ซึ่งพรรคมีแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ และพรรค พปชร. จะให้ข้อมูลกลับมาภายใน 17.00 น. วันนี้
แต่พรรค พปชร. ยังไม่ได้ให้คำตอบมาภายในเวลาที่กำหนดว่าจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม นายราเมศปฏิเสธว่าไม่ได้มีการพูดถึงโควต้ารัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตร ที่ตกลงกันไม่ลงตัว และหากจะเลือกนายกรัฐมนตรีล่าช้าก็คงต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ เพราะไม่ได้เกิดจาก ปชป. ทั้งนี้พรรคได้แจ้งรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการแจ้งกลับมาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ถ้ามีการติดต่อกลับมาก็ค่อยว่ากันอีกทีในวันที่ 29 พ.ค. และส่วนมาก กก.บห. และ ส.ส. ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรให้พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายพูด รวมทั้งเสถียรภาพในการตั้งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก พปชร. ยังไม่มีการติดต่อกลับมาก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคพร้อมเป็นฝ่ายค้านอิสระหรือไม่ และพรรคไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เองโดยไม่รอพรรค พปชร. หรือไม่ นายราเมศ ตอบว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน และพรรคได้เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่ทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติอยู่แล้ว และหลังจากนี้จะทำหน้าที่ เช่น ตั้งกระทู้ถาม หรือออกกฎหมาย ตามกระบวนการนิติบัญญัติ แต่จะหันกลับไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายเพื่อไทยหรือไม่ นายราเมศตอบว่ายังไกลเกินไป ทั้งนี้นายราเมศยังกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายมา และทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนได้ และเคยทำหน้าที่เหล่านี้มาทั้งหมด
"ณัฏฐพล" ยันเลื่อนประชุมเป็นเหตุการณ์ปกติ มั่นใจหาจุดลงตัวในการร่วมรัฐบาลได้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงกรณีรายงานข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ เลื่อนประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.เพื่อลงมติร่วมรัฐบาลออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมีปัญหาการตกลงตำแหน่งจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังไม่ลงตัว ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะการที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมแกนนำพรรค เดินทางไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.62) เพื่อเชิญมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และทางพลังประชารัฐก็ได้รับข้อเสนอของทางพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอน ของพรรค เพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัวโดยเฉพาะเรื่องของนโยบายแต่ละพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนว่าเราจะดำเนินการ หรือปรับนโยบายเข้าหากันอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีการหารือในการจัดสรรกระทรวงเพื่อหาความเหมาะสมในการบริหารประเทศ ซึ่งยังมีเวลาในการพิจารณาหารือ และถือเป็นเรื่องปกติในทางการเมืองในการเจรจาร่วมกัน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ให้เกียรติทุกพรรคการเมือง และจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้กับพรรคอื่นๆ ไม่เพียงแต่กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
ทั้งนี้ในการเจรจาร่วมกัน ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ก็ขอเวลาสักหน่อย ไม่ได้เป็นเรื่องที่เรากังวลว่าจะไม่มีเสถียรถาพในการตั้งรัฐบาล แต่เป็นการพูดคุยกันเพื่อหาความเหมาะสมกับทั้งสองพรรค ทั้งนี้ไม่ได้กังวลกับการเลื่อนประชุมดังกล่าว แต่หากการเจรจาไม่ลงตัว ก็ยังพอมีเวลาหารือกันในระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี และสามารถทำงานการรวมตัวกันในการร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นได้ ตนจึงไม่กังวล ขอเวลาในการพูดคุยกัน เพื่อทำให้ลงตัว และมั่นใจว่า จะไม่มีการเห็นผลประโยชน์ส่วนตนจนทำให้การเดินไปข้างหน้าเพื่อประชาชนต้องเกิดการสะดุดอย่างแน่นอน