ไม่พบผลการค้นหา
"กลุ่มแฟนคลับประชาธิปัตย์" ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงยืนยันยังไม่มีการหารือร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้นำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้ต่อรอง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยันว่า ในการหารือระหว่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวานนี้ (28 พ.ค.) ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เป็นเพียงการพูดถึงหลักการในการทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่าย ก่อนที่แต่ละพรรคจะนำกลับไปหารือในที่ประชุมกรรมการบริหารของแต่ละพรรค

ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้ต่อรองในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับส.ส. ของพรรค ที่จะมีการประชุมร่วมกันในช่วงเย็นวันนี้ 

นายราเมศ ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตย ต้องรับฟังเสียงของสมาชิกพรรคทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 3.9 ล้านเสียง การตัดสินใจร่วมรัฐบาลไม่ใช่สิทธิของนายเฉลิมชัยเพียงคนเดียว ดังนั้นในการประชุมร่วมกันของกรรมการบริหารพรรคและส.ส. จะนำทั้งคำประกาศในอดีตของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลเข้าหารือในที่ประชุมด้วย

ทั้งนี้ นายราเมศ ไม่ปฏิเสธถึงแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์อาจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมร่วม ซึ่งต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้

วันเดียวกันนี้ กลุ่มประชาชนในนาม "กลุ่มแฟนคลับประชาธิปัตย์ 1 ใน 3 ล้าน 9" ได้ยื่นหนังสือถึงรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบอบรัฐสภาและประเพณีการปกครอง คือพรรคประชาธิปัตย์ต้องเคารพกติกา เคารพเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสืบทอดอำนาจต่ออีกสมัย เพราะจะเป็นการกระทำที่ผิดกับหลักการ

อีกทั้งการเข้าร่วมรัฐบาล จะต้องใช้นโยบายของพรรคแกนนำเป็นหลัก ซึ่งนโยบายของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ การเข้าร่วมจึงไม่เกิดผลดีกับประชาชนและกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่สามารถผลักดันนโยบายของพรรคได้อย่างเต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง