นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ดร.สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมแถลงข่าวในเวทีเสวนาวิชาการดีดีซี ฟอรั่ม (DDC Forum) เรื่อง “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal”
โดยนพ.สุวรรณชัย เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้รัฐต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มาก โดยพบว่า ม.ค.–มี.ค. 63 ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 4,924 คน เฉลี่ย 55 คนต่อวัน ลดลงจากปี62 จำนวน 595 คน คิดเป็น 10.78% ส่วนผู้บาดเจ็บ 277,141 คน ลดลงจากปี 62 จำนวน 94,626 คน คิดเป็น 25.45% โดยปี 63 มีผู้บาดเจ็บหนักต้องนอนรพ. 44,774 คน มีผู้พิการเกือบ 2,060 คน
คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1.7 หมื่นล้านบาทจากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท เฉพาะเดือน มี.ค. ที่เริ่มประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดินทางลดลง การออกนอกเคหะสถานลดลง และมีการตั้งด่านความมั่นคง ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 201 คน คิดเป็น 10.85% เมื่อเทียบกับปี 62 เสียชีวิต 1,853 คน และผู้บาดเจ็บลดลง 64,885 คน คิดเป็น 50.10% ขณะที่ปี 62 บาดเจ็บ 129,498 คน
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่อุบัติเหตุทางถนนก็ยังมีความรุนแรงสูง เพราะในช่วงม.ค.-มี.ค.มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50-58 คน แต่ในหลายพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การทำงานป้องกันอุบัติเหตุมีข้อจำกัด
"ช่วงเดือน พ.ค. 2563 ที่มีการผ่อนปรนมาตรการให้กับประชาชน ประกอบกับหน้าฝนถนนลื่น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีข้อกังวลกับสถานการณ์ที่จะกลับมารุนแรงมากขึ้นอาจเข้าสู่จุดวิกฤต ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ดังนั้นจึงต้องสวมหน้าหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุและเปรียบเสมือนการสวมเฟชชิลป้องกันโควิด-19 ด้วย แต่ก็ต้องสวมหน้ากากผ้า"