ไม่พบผลการค้นหา
สธ.ยืนยัน ผู้ติดเชื้อ ‘โอไมครอน’ ในประเทศรายแรก เป็นหญิงชาวไทยติดเชื้อจากสามีอาชีพนักบินที่เดินทางมาจากไนจีเรีย เร่งเสนอ ศบค. พิจารณาเลิก Test & Go และให้กักตัวทุกคน หลังพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัพเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในไทย ว่า การถอดรหัสพันธุกรรมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 - 19 ธ.ค. พบว่า เป็นเดลต้า 1,541 ราย เบต้า 1 ราย ขณะที่ สายพันธุ์โอไมครอน 52 ราย รวมของเดิม 9 ราย เป็น 63 ราย คิดเป็น 0.13% ของสัดส่วนสายพันธุ์ในไทย

นพ.ศุภกิจ สรุปสถานการณ์ว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ขณะที่ทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่มี Index case ในประเทศไทย สัดส่วนของผู้เดินทางเข้าประเทศ (Test&Go, Sandbox, AQ) ที่ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ถึง 1 ใน 4 ประมาณ 25%

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองโรคระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศเป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี รับเชื้อมาจากสามีชาวโคลัมเบียอายุ 62 ปี อาชีพนักบิน เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย โดยทั้งคู่มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้ง 2 เข็มแล้ว มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 1 ราย คือ คนขับรถแท๊กซี่ ซึ่งผลการตรวจหาเชื้อครั้งแรกเป็นลบ และจะมีการตรวจอีกครั้งเมื่อกักตัวครบ 14 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค. และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ 89 ราย ติดตามอาการครบ 14 วัน ยังไม่พบผู้มีอาการป่วย

นพ.จักรรัฐ สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งสามารถแพร่โรคได้เร็ว มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่เคยฉีดวัคซีนนานกว่า 6 เดือนแล้ว

ขณะที่ ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังพบการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อนกระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยง ได้แก่ โรงงาน สถานประกอบการ ตลาด แคมป์คนงาน โรงเรียน รวมทั้งการจัดกิจกรรมงานเลี้ยง งานรื่นเริง งานศพ งานบุญ

พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศ ซึ่งติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งนี้ ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน จากสายพันธุ์ Omicron ภายในประเทศไทย

นอกจากนี้ พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศ ในรูปแบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า เทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม รวมทั้งตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอต่อ ศปก.ศบค. พิจารณาชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางมาจากทุกประเทศ และพิจารณาปรับใช้มาตรการกักตัวในระบบ AQ หรือ Sandbox นาน 7-10 วัน แทน