ตัวเลข 310 ที่นั่ง มีที่มาใน 2 มุม จากการวิเคราะห์ของคนในพรรคเพื่อไทย
มุมหนึ่ง หลังจากมีการทำโพลสำรวจความนิยมทั้งทางลับ – ทางแจ้ง ต่อกระแสพรรคเพื่อไทย และตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พบว่า กระแสแรง ไม่มีแผ่ว และคนต้องการอยากเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล เป้าหมาย 250 ที่นั่ง ส.ส.ในสภา จึงไม่ยากเกินความสามารถ
อีกทั้ง โพลที่เป็นผลสำรวจของสถาบันการศึกษา อย่าง นิด้าโพลก็สำรวจคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย แทบจะเกินครึ่งทั้งระบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทว่าอีกมุมหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ยังหวั่นใจว่า จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภา 250 อาจยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งระบอบประยุทธ์
เพราะหากพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ด้วยเสียงเกินมา 250 -255 เสียง พรรคฝ่ายตรงข้าม คือพรรคฝ่ายระบอบประยุทธ์ อาจจะมั่นใจในสรรพกำลัง จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน โดยมี ส.ว.250 คน คอยค้ำบัลลังก์ แล้วรอช็อปตัว ส.ส. “งูเห่า” จากหน้างาน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำอีกครั้ง
เมื่อไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น พรรคเพื่อไทยจึงพยายามฉายภาพให้สังคมทั้งสังคมเห็นว่าเหตุไฉนถึงต้องการ 310 เสียง เพื่อเป็นเสียงข้างมากเพียงพอที่จะต่อกรกับขั้วผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
และถึงแม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่ชนะไม่ขาด ไม่ถึง 300 เสียง ตัวอย่างเช่น ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มา 270 ที่นั่ง แล้วไปจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยให้ถึง 300 เสียง ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมี ส.ว.เจ้าปัญหาคอยขัดขวาง
เพราะการเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ต้องใช้เสียงเกินครึ่ง คือ 376 เสียง เว้นแต่ ส.ว.ไม่อาจต้านฉันทามติของประชาชน
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย จึงพยายามสื่อสารทางการเมืองไปถึงโหวตเตอร์ว่า เลือกพรรคเพื่อไทย ต้องชนะให้ขาด 310 เสียงขึ้นไป โดยกลุ่มเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องการคว้าให้ได้ ไม่ใช่บรรดาแฟนพันธุ์แท้ หรือ นางแบก หรือ กลุ่มเสื้อแดง แต่เป็นโหวตเตอร์ ที่ยังเป็นขั้วสวิงโหวตกว่า 40 ล้านเสียง
อีกด้านหนึ่ง บรรดานักยุทธศาสตร์การเมืองในพรรคเพื่อไทย ก็วิเคราะห์เกมของฝ่ายผู้มีอำนาจออก หากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินสถานการณ์แล้วว่าไม่สามารถรวมเสียงจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้
อาจใช้วิธี “ล้มโหวต” ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่รักษาการได้ยาวต่อไป ซึ่งอาจลากยาวทะลุถึงเดือน ส.ค. 2566
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มิได้กำหนดระยะเวลาการมีนายกรัฐมนตรี ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550
โดยรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 202 กำหนดว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให่ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
ขณะที่ มาตรา 203 ได้กำหนดระยะเวลาที่สภาจะต้อง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นําความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน15 วันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา ดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียง สูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 ได้กำหนดระยะเวลาที่ต้องเฟ้นหานายกฯ ในสภาไว้ว่า
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
และมาตรา 173 กำหนดว่า ภายใน 30 วัน ที่มีการเรียกประชุมสภาแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเห็นชอบให้ได้รับตำแหน่งเป็นนายกฯ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นําความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา ดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียง สูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ต่างออกไป โดยมาตรา 159 บัญญัติ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความ เห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่ง โดยไม่ได้มีกรอบเวลากำหนดแต่อย่างใด
เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ดีไซน์ไว้สำหรับการจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” เปิดช่องให้พรรคการเมืองตกลงเลือกนายกฯ กันเองจนกว่าจะได้ โดยให้นายกฯ ที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ค้นก้นบึ้ง - คำตอบ จาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยระบุไว้ในเรื่องนี้ว่า
“เพราะเราเขียนไว้ชัดให้พรรคการเมืองประชุมพรรคแล้วเลือกคนที่จะมาเป็นนายกฯ กันเอง ถามว่าทำไมไม่เขียนเลยล่ะว่าให้นายกฯ มาจาก ส.ส. คำตอบคือ วันที่พรรคการเมืองประกาศชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ ของพรรค มันยังไม่มี ส.ส. ไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็น ส.ส. เท่าไร”
“ถ้าเราใจเหี้ยมนะ บังคับนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. พรรคบางพรรคระเนระนาดเลย เพราะคนที่จะมาเป็นนายกฯ ของพรรคแต่ละพรรคมักอยู่ในบัญชีรายชื่อ แม้บอกว่ายังไงก็ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งและได้เป็น ส.ส. แน่ ถามว่ารู้ได้ไงว่าจะได้ เพราะถ้า ส.ส.เขต ได้เกินสัดส่วนที่พรรคพึงมี จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย”
จึงเป็นคำตอบว่า หากพรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์แต่ไม่ถล่มทลาย เกินครึ่ง 250 ที่นั่งมาไม่กี่เสียง พล.อ.ประยุทธ์ อาจไม่ยอมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อยู่รักษาการต่อไปเรื่อยๆ
และวันนั้นการเมืองอาจเข้าสู่คำว่า Dead lock อีกหน