ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนไปเมื่อครั้งที่ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดย พรรคก้าวไกลส่งมอบภารกิจให้ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566

ครั้งนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำ 8 พรรคร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืน 8 พรรคร่วม 312 เสียงจะแสวงหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ได้ครบจำนวนที่ต้องเติมให้ถึง 375 เสียง อีก 63 เสียง 

ซึ่งเงื่อนไขหลักที่ สว.แสดงความเห็นคัดค้าน คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

'พรรคเพื่อไทย' ได้ย้ำว่าหากไม่ได้เสียงของ สว.เพียงพอ ก็เป็นสิทธิที่จะต้องหาเสียงจากพรรคการเมอืงอื่นมาสนับสนุนในการลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

พร้อมทั้งทิ้งท้ายแนวทางสุดท้ายไว้เป็นแนวทางอื่นๆ โดยให้ 'เพื่อไทย' เป็นแกนนำในการเจรจา

เมื่อ 'ก้าวไกล' ไม่สามารถเสนอชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกรอบที่ 2 ทำให้ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำมาเป็นผู้ตาม 'เพื่อไทย'

แต่เงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่นำโดย 'เพื่อไทย' ก็ยังไม่ง่ายนัก

ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2566 'เพื่อไทย'ออกจดหมายเชิญพรรคการเมืองขั้วอำนาจเก่า ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคพลังประชารัฐ ร่วมหารือเพื่อหาทางออกในการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะเดดไลน์การโหวตนายกฯ ต้องจบให้สะเด็ดน้ำในวันที่ 4 ส.ค. 2566

5 พรรคการเมืองขั้วอำนาจเก่า ตั้งป้อมประสานเสียงไปในทิศทางเดียวโดยย้ำถึงเงื่อนไข มาตรา 112 เป็นเงื่อนไขหลักการในการลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

ชลน่าน ชัยธวัช เพื่อไทย ก้าวไกล 8พรรค 8717.jpegอนุทิน ชลน่าน กาแฟ เพื่อไทย ภูมิใจไทย _8788.jpeg

ข้อเสนอ 'พรรคภูมิใจไทย' ประกาศจุดยืนว่า ไม่สามารถทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลได้ โดยย้ำว่าไม่ใช่เป็นเรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องแนวทางการทำงานความคิดวิธีการทำงาน 

'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเลี่ยงตอบถึงกรณีหากพรรคก้าวไกล ลดเพดาน มาตรา 112 พรรคภูมิใจไทย จะร่วมงานด้วยได้ไหม โดยย้ำว่า เท่าที่อยู่ในรัฐสภามาตลอดยังดูมีความแตกต่างกันเยอะและมีข้อจำกัดมาตลอด

พรรคชาติพัฒนากล้า บอกผ่าน 'เพื่อไทย'ว่า 1.สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างมากไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย 2.สนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล หากไม่ได้ก็ไล่ลำดับตามลงมา 3.อยากให้มีการเร่งรัดในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ 4.พรรคชาติพัฒนากล้าขอคงไว้ไม่แก้ไข มาตรา 112

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศจุดยืนกับ 'เพื่อไทย' ว่าแนวทางอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลต่างกับ รทสช.มาก ไม่สามารถให้มีอำนาจทางการเมืองมากไปกว่านี้ได้ ไม่ใช่มีเพียง มาตรา 112 เท่านั้น

พรรคชาติไทยพัฒนา ย้ำจุดยืนว่า พรรคจะทำงานเพื่อเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องไม่แก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 พรรคชาติไทยพัฒนายินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีพรรคการเมืองที่มีความคิดแตกแยก หากมีคงจะต้องแยกย้ายกันทำงาน และไม่ได้ทำงานร่วมกัน

พลังประชารัฐ เพื่อไทย ชลน่าน ธรรมนัส สันติ IMG_8919.jpeg

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศหลังหารือกับพรรคเพื่อไทยว่า พรรคมีเจตจำนงแน่วแน่ ที่จะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแก้ไข มาตรา 112 ได้มีการยืนยันกับพรรคเพื่อไทยว่า เป็นหลักสำคัญ ที่เราจะปฎิเสธหากมีพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายและมีแนวคิด แก้ไขมาตรา 112  เป็นเรื่องที่พรรค รับไม่ได้

พรรคพลังประชารัฐยังประกาศว่าจะไม่เสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ภายใต้เงื่อไขหากเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่ำกว่า 250 เสียง หรือกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก

เป็นโจทย์ไม่ง่ายเท่าใดนัก 'สมการ'จัดตั้งรัฐบาลภายใต้ 8 พรรคที่นำโดย 'เพื่อไทย' แต่ยังมี 'ก้าวไกล' อยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะถูกตั้งแง่ ตั้งป้อม ขวางไม่ให้ 'เพื่อไทย' จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

เมื่อดูสมการเสียงของพรรคขั้วเก่า พรรคพลังประชารัฐ สส. 40 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนา 2 เสียง

5 พรรคขั้วอำนาจเก่า ผนึกกันแน่นด้วยเสียงมากถึง 159 เสียง 5 พรรคการเมืองนี้ถือเป็นเสียงที่มีพลังในการต่อรองที่สามารถลุกขึ้นโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยได้ 

ก่อนจะถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 วันที่ 4 ส.ค. 2566 อีกทั้ง 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' ประธานรัฐสภา มีคิวกำหนดการเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน ระหว่างวันที่ 5 -11 ส.ค. 2566

ทำให้มีการมองว่า เกมโหวตนายกฯ จะจบลงได้ภายใน 4 ส.ค.นี้หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่า 'พรรคก้าวไกล' จะมีสถานะอยู่ซีกการเมืองใดในสภาฯ แล้วแคนดิเดตนายกฯที่ชื่อ ‘เศรษฐา’ จะถึงฝั่งฝันเป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้หรือไม่

เศรษฐา IMG_8640.jpeg

ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ยังคงย้ำว่า จุดยืนการโหวตนายกฯของสว.นั้น ยืนยันไม่โหวตสนับสนุนพรรคที่คิดจะแก้มาตรา112 อีกทั้ง 'เศรษฐา ทวีสิน' แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเคยให้สัมภาษณ์ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งไว้ด้วย โดย สว.จะนำเรื่องนี้มาประกอบการตัดสินใจในการลงมติเห็นชอบ 'เศรษฐา' เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ตัวเต็งที่จะถูกเสนอชื่อเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค. 2566 กล่าวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ให้การพูดครั้งล่าสุดว่า มาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิกในการเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไป ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.และหลายพรรคการเมือง พร้อมย้ำว่า ตนพูดแทนพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องพูดคุยกันถ้าเป็นแกนนำต้องพิจารณากัน  

"ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผม ถ้ามีมาตรา 112 คงไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลายพรรค"เศรษฐากล่าว

แน่นอนว่าภายใต้สมการเงื่อนไขที่ขาดเสียงสนับสนุนอีก 63 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้เสียงจากฝั่งขั้วเก่ามาโหวตให้นายกฯ 'เพื่อไทย' จึงถูกต่อรองด้วยการไม่มี 'ก้าวไกล' เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

กิตติศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา ประชุมรัฐสภา 8491.jpeg

แม้จะมีเสียงจาก 'พรรคก้าวไกล' ผ่าน 'วิโรจน์ ลักขณาอดิศร' สส.บัญชีรายชื่อ เรียกร้องให้ 'พรรคเพื่อไทย' จับมือกับ 'พรรคก้าวไกล' ให้แน่น เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการตั้งรัฐบาลด้วยสูตรสมการอื่น

ทางเลือกของ 'เพื่อไทย' เหมือนมีไม่มากไม่ว่าจะเลือกทางไหนการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ก็ล้วนแต่มีอุปสรรค ไม่ว่า 'ก้าวไกล' จะอยู่ด้วยกับ 'เพื่อไทย' หรือไม่ก็ตาม

เพราะอนาคตในสนามเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' จะต้องต่อสู้กับ 'ก้าวไกล' อย่างหนักในหลายพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้

ยังไม่นับเหตุการณ์ถ้ายิ่งโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีถูกยื้อ-เตะถ่วงออกไปนานเข้าเรื่อยๆ โหวตจนไม่รู้จะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีสักที

สมการขั้วพรรคลำดับที่3 ขึ้นมานำตั้งรัฐบาลแทน 'เพื่อไทย' ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ หากถึงคราวต้องขยับถึงวันนั้น โอกาสที่ 'ก้าวไกล' จะไม่ได้อยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งมีสูง