ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "สิ่งที่ประชาชนอยากได้เป็นของขวัญปีใหม่ 2562 จากรัฐบาลชุดใหม่" จากประชาชนทั่วประเทศ 1,252 ตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงสิ่งอยากได้มากที่สุดจากรัฐบาลชุดใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.32 อยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รองลงมาร้อยละ 20.69 อยากให้แก้ปัญหาพืชผลการเกษตร และพัฒนาสินค้าทางการเกษตร ร้อยละ 9.66 อยากให้แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 7.27 ระบุอยากให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
ร้อยละ 3.99 อยากให้เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 1.60 ระบุว่า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น การคมนาคม ถนน รถไฟ ร้อยละ 1.12 อยากให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 0.79 ให้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 2.48 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง พัฒนาระบบการศึกษาไทย ให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส แก้ไขปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ พัฒนาระบบประกันสุขภาพ และเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
สำหรับพรรคการเมืองที่จะสามารถให้ของขวัญปีใหม่ 2562 ตามที่ประชาชนต้องการได้ (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 27.71 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 21.25 ระบุว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะสามารถให้ของขวัญปีใหม่ 2562 ตามที่ต้องการได้ อันดับ 3 ร้อยละ 16.53 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 16.37 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 5.91 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่
อันดับ 6 ร้อยละ 4.71 ระบุว่า ขอดูนโยบายของแต่ละพรรคก่อน อันดับ 7 ร้อยละ 2.24 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 9 ร้อยละ 1.04 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.56ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อชาติ
ด้านโครงการที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.00 ระบุว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้านค้าประชารัฐ รองลงมา ร้อยละ 15.09 ระบุว่า โครงการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ร้อยละ 12.46 ระบุว่า โครงการที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน (เช่น บ้านล้านหลัง ให้สิทธิทำกินในที่ดินของรัฐ) ร้อยละ 11.90 ระบุว่า ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยละ 10.22 ระบุว่า โครงการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิต (เช่น เกิดอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ 72 ชั่วโมง) ร้อยละ 5.75 ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม (เช่น รถตู้ รถแท็กซี่ คูคลอง หาบเร่ แผงลอย)
ร้อยละ 4.63 ระบุว่า โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ร้อยละ 4.15 ระบุว่า โครงการกองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 2.96 ระบุว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน ร้อยละ 1.36 ระบุว่า ตลาดประชารัฐ ร้อยละ 1.28 ระบุว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี (EEC) ร้อยละ 0.72 ระบุว่า การจัดการสิ่งแวดล้อม (เช่น โรงไฟฟ้าจากขยะ) ร้อยละ 0.32 ระบุว่า การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 0.24 ระบุว่า การแก้ไขการทำประมง ที่ผิดกฎหมาย (IUU) ร้อยละ 0.16 ระบุว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ร้อยละ 1.52 ระบุอื่นๆ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือเกษตรกร โครงการที่เกี่ยวกับการศึกษา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีโครงการใดที่อยากให้สานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ และร้อยละ 0.08 ไม่แน่ใจ
และเมื่อถามถึงบุคคลแห่งปี 2561 ที่ประชาชนคิดว่าทำประโยชน์ให้สังคมและอยากให้เป็นแบบอย่าง หรือไอดอล (10 อันดับแรก) พบว่า อันดับ 1 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.12 ยกให้ ตูน บอดี้สแลม อันดับ 2 ร้อยละ 18.13 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 3 ร้อยละ 4.87 นายบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ อันดับ 4 ร้อยละ 4.31 นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย อันดับ 5 ร้อยละ 4.23 น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม อันดับ 6 ร้อยละ 2.56 นางปวีณา หงสกุล อันดับ 7 ร้อยละ 7.68 นายทักษิณ ชินวัตร อันดับ 8 ร้อยละ 1.28 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และนายวิเชียร ชินวงษ์ ในสัดส่วนเท่ากัน อันดับ 9 ร้อยละ 1.04 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และอันดับ 10 ร้อยละ 0.72 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล และร้อยละ 5.51 ระบุว่าไม่มีบุคคลที่คิดว่าทำประโยชน์ให้แก่สังคม และอยากให้เป็นแบบอย่าง