ไม่พบผลการค้นหา
13 ปี ผ่านไป นิสิตจุฬา จัดงานทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง ครั้งแรก เสวนากลางมหา’ลัย “ณัฐวุฒิ-แม่น้องเกด” หลั่งน้ำตา เดินหน้าทวงความยุติธรรม ฝากความหวังให้รัฐบาลใหม่

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานงานรำลึกเสื้อแดง โดยมีเวทีเสวนา “พฤษภา’ 53 : รัฐบาลใหม่กับการทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ , พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด อาสาพยาบาลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อาชญกรรมของรัฐ , ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 

เริ่มที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวเป็นคนแรกว่า ขอบคุณ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่จัดงานเสวนานี้ขึ้น เพราะมีนัยสำคัญบนบรรทัดประวัติศาสตร์ เพราะวันหนึ่งในปี 2563 วันที่ตนอยู่ในเรือนจำ มีการจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัย มีการนำคำปราศรัยของตน “เสียงจากดินถึงฟ้า” มาอ่านที่ใต้ตึกคณะอักษรฯ จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นบรรทัดประวัติศาสตร์สำคัญ ที่สถาบันการศึกษาที่ถูกมองว่า มีรากฐานความเป็นมา ตรงกันข้ามกับแนวคิดทางการเมืองของคนเสื้อแดง และตลอดมาก่อนหน้านั้น ก็เป็นฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะก่อนรัฐประหาร 2557 ดังนั้นเมื่อปรากฎเรื่องราวของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นที่นี่ ทั้งดีใจ ตื่นตัน และประหลาดใจ ในขณะเดียว อยากจะให้เรื่องราวนี้ มันถูกถ่ายทอดไปยังคนเสื้อแดงทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่จากไปแล้วจากการต่อสู้ และคิดว่าถ้าพี่น้องตนเหล่านั้นได้รับรู้ก็คงตายตาหลับ แม้ว่าเรื่องของความยุติธรรมจะยังมาไม่ถึง และยังคงติดตามเดินหน้าทวงถามกันต่อไป ยืนยันว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้คุยเรื่องคนเสื้อแดงในจุฬาฯ 

ช่วงหนึ่งของการเสวนา ณัฐวุฒิ กล่าวทั้งน้ำตาว่า “ถ้าให้เลือกได้ ผมจะไม่ออกที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พ.ค. โดยเด็ดขาด ถ้ารู้ว่า คนจำนวนมากจะต้องติดอยู่ในวัดปทุมวนาราม และมีคนตายอีก 6 ศพ ผมคิดว่ามันจะเหมือนการชุมนุมช่วงสงกรานต์เลือด ในเดือนเมษายน 2552 ที่มีการยุติการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีการนำรถมารับมวลชนพี่น้องผมทยอยกลับภูมิลำเนากันอย่างปลอดภัย นี่มันเป็นความโหดร้าย มันเป็นโศกนาฏกรรม การเข่นฆ่าต่อประชาชนซึ่งเป็นขบวนการประชาชนชั้นล่าง ที่ผมกล้าพูดว่า ไม่เคยมีการต่อสู้ของภาคประชาชนขบวนการใด ในประเทศไทย ที่จะรวมเอาคนชั้นล่าง ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา มาจัดตั้งเป็นขบวนการ และต่อสู้อย่างจริงจัง ต่อเนื่องยาวนาน จากวันนั้น จนวันปัจจุบัน ก็ยังคงหลงเหลือจิตวิญญาณของคนเสื้อแดงอยู่ในสนามการต่อสู้ เกียรติยศสูงจุดเป็นของเพื่อนผู้จากไป ส่วนแกนนำ มันมีความรับผิดชอบอยู่กับบ่า สุดท้าย ผมอยากจะบอกว่า ในตลอดเวลาของการต่อสู้ มันอาจจะมีทั้งความถูกต้อง ผิดพลาด ของขบวนนำ และมวลชนบางส่วน นี่คือเรื่องปกติ มันไม่มีขบวนการต่อสู้ สมบูรณ์แบบ และรักษาสภาพได้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือการสู้กันระหว่างประชาชน กับ รัฐ และถูกรัฐกระทำอยู่ตลอดเวลา”

“ในสังคมการเมืองนี้ นานมากนะครับที่เขาไม่มีที่ยืนให้คนเสื้อแดง ในวินาทีนั้น อย่าว่าที่ยืนเลย ที่นอนตายเขาก็ไม่ให้ หลังจากการล้อมปราบ 2553 อีกวันสองวัน หลัง 19 พฤษภา เขาชวนศิลปินดารา มาฉีดน้ำล้างเลือด ร้องรำทำเพลง เฉลิมฉลอง พากันมาลบล้าง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงอย่างฉับพลันทันที ให้เราพูดเมื่อปี 53 ว่า เห้ย เราจะมาพูดเรื่องคนเสื้อในจุฬาฯ ไม่มีใครเชื่อนะครับ ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ วันนี้ผมทำหน้าที่แทนพวกเขา ขอบคุณครับ” ณัฐวุฒิ กล่าว 

ด้าน พะเยาว์ อัคฮาด กล่าวว่า เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ถูกเรียกว่าแม่ผู้ก่อการร้าย ก่อนลูกสาวเสียชีวิต เราเป็นแม่ค้า ทำมาหากินปกติ แต่พอลูกเราเสียชีวิต เราก็ต้องกลับมาทบทวนศึกษาว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากอะไร ทำไมถึงฆ่าคนกลางใจกรุงเทพ โดยที่สังคมไทยไม่รู้สึกอะไรเลย 

ช่วงหนึ่ง พะเยาว์ เล่าทั้งน้ำตา หลังทราบว่าลูกตนนั้นเสียงชีวิตในเหตุการณ์ว่า ลูกสาวเป็นศพเดียวที่เป็นผู้หญิงซึ่งถูกยิงมากที่สุด คือ 11 นัด คนที่เป็นประชาชน เป็นอาสาพยาบาลที่เชื่อมั่นในองค์กรตัวเองว่า หน่วยกาชาดจะไม่อันตราย มันใช้ไม่ได้ ทำให้เรามองเลยว่า แม้แต่หน่วยกาชาดก็ยังไม่ปลอดภัย และประชาชนที่ออกมาชุมนุมเขาจะหนักขนาดไหน ที่ตายกว่า 99 ศพ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แล้วที่ไม่เจอศพหละ มันสุดๆแล้วนะ ว่าเราจะทำอย่างไรกัน ตอนนั้นแกนนำหลังการสลายการชุมนุม 19 พ.ค. ถูกจองจำในคุก ประชาชนไม่มีใครกล้า เจ้าหน้าที่รัฐคุมพื้นที่หมด ทุกคนต้องนิ่งเงียบ และหลังจากนั้น 2-3 วันเขาเอาดารานักร้องมาล้างเลือด แต่ในปทุม พอเอาศพออกไป ปลอกกระสุนมาเพียบ เรามองว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกกระทำอย่างมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ และในพื้นที่สลายการชุมนุม ก็ไม่มีใครเลยนอกจากทหาร ตำรวจยังถูกให้ออกจากพื้นที่ ประชาชนถูกดันเข้าไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม คำถามคือทำไมยังมีคนตายอยู่ในวัด 

“นักการเมืองหลายคน ให้ดิฉันให้อภัยแก่ผู้กระทำความผิด ดิฉันถามกลับไปว่า จะให้อภัยใคร ไม่เห็นมีใครมารับสารภาพว่าผมยิง ผมทำ ไม่มีใครมารับสารภาพเลยว่าเขาทำผิด ดิฉันจะได้ให้อภัยถูกคน เวลานั้นมีหลายคนเสนออย่างเดียว ไม่ต้องเอาความผิด ให้ออกกฎหมายนิรโทษทั้งหมดสุดซอย ทุกอย่างสะดุด จนกระทั่งรัฐประหาร 2557 8 ปี คนสั่งสลายการชุมนุมปี 53 ขึ้นมามีอำนาจ ทุกอย่างก็สะดุดหยุดลง ดิฉันฝากถึงผู้มีอำนาจ ถ้าท่านเป็นรัฐบาลที่แข็งแรง ขอฝากเรื่องนี้ด้วย นี่คือความในใจของเรา” พะเยาว์ กล่าว

จากนั้น คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า 13 ปี พฤษภา’53 เมื่อคนตายยังไม่ได้รับความยุติธรรม

ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ปราบปรามของรัฐบาลครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งปฏิบัติการทหารล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริง ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นเวลากว่า 39 วัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 94 คน และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,283 คน ในระหว่างปฏิบัติการ ทหารได้ใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุสังหารผู้ประท้วงอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในบรรดาผู้เสียชีวิตประกอบด้วยผู้ประท้วง นักข่าว ผู้ที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาสาสมัคร พยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ คุณคณึง ฉัตรเท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวด้วยอาการเลือดออกในช่องอกขวา ปอดฉีกจากบาดแผลที่ถูกยิง และมีกระสุนฝังที่กระดูกสันหลังและอก ภายหลังเหตุความรุนแรงรัฐบาลประกาศในวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ว่าจะมี “การสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างการประท้วง” “ในลักษณะที่โปร่งใส” แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ผู้บัญชาการทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนั้นถูกดำเนินคดี บัดนี้เวลาผ่านไปแล้ว 13 ปี ยังไม่มีความยุติธรรมปรากฏแก่ผู้เสียชีวิต และครอบครัวยังไม่เคยได้รับการเยียวยา 

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดกิจกรรมรำลึกพฤษภา 53 ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใหม่ในเร็ววันนี้จะต้องนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมาย แม้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถมีสิ่งใดทดแทนได้ แต่ผู้เสียชีวิตและครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องได้รับการชดเชย พี่น้องประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมกลับคืน ศักดิ์ศรีของพี่น้องประชาชนต้องได้รับการเคารพ และสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนที่ร่วมต่อสู้ในภายภาคหน้าต้องได้รับการคุ้มครอง และพวกเรานิสิตในวันนี้ขอยืนหยัดสนับสนุนและเรียกร้องไม่ให้เกิดอาชญากรรมรัฐกับผู้ใดหรือกลุ่มใดอีก

ขอศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ผู้ถูกกดขี่ ขอความยุติธรรมคืนสู่ผู้สูญเสีย และขอให้อำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ผู้ร่วมเสวนา รวมถึงนิสิตจำนวนหนึ่ง วางดอกกุหลาบ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นอันจบงานเสวนา