ไม่พบผลการค้นหา
"หมวดเจี๊ยบ" ชี้ศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลหน้า ไม่ต่างจากการแย่งแผงขายของในตลาดสด ถือเป็นความล้มเเหลวของ รธน.

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูหมดสภาพแล้วตั้งแต่ยังไม่เริ่มตั้งไข่ เพราะเปิดศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างดุเดือด เห็นแล้วนึกถึงการแย่งแผงขายของในตลาดสด แต่ละคนชูนโยบายบังหน้าเพื่ออ้างความชอบธรรมในการแย่งกระทรวงเกรดเอไปบริหาร แสดงความรักชาติกันจนน้ำลายไหล ทั้งๆ ที่เงื่อนไขเกี่ยวกับนโยบายที่ตั้งไว้เป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้ว คือ การเตรียมข้ออ้างไว้แย่งกระทรวงที่หมายตา ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่หลักการแบ่งงานตามหลักความรู้ความสามารถ แต่ใช้หลักโควตาในการแบ่งกระทรวง ซึ่งเป็นหลักคิดที่ใช้ไม่ได้ในการเลือกคนมาบริหารประเทศ 

ที่แย่กว่านั้น คือ บางคนซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรีแม้แต่น้อย ก็ยังกล้าโพสต์เฟซบุ๊กขอเก้าอี้รัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ ตัวเองก็ยังโดนวิจารณ์หนักอยู่แล้วถึงความเหมาะสมในการเป็น ส.ส. เพราะได้เก้าอี้ ส.ส.มาจากการปัดเศษ ได้คะแนนต่ำกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด นี่คือความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญในการออกแบบการเลือกตั้ง ทำให้คนไร้อุดมการณ์แต่มีความเลื่อมไสในระบอบเผด็จการสามารถเดินเข้ารัฐสภาได้ง่าย โดยหวังตำแหน่งต่างๆ เป็นสิ่งตอบแทน

อย่างไรก็ตาม ถึงการเมืองจะวิปริตผิดเพี้ยน แต่ประชาชนก็อย่าเพิ่งหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย เพราะความผิดไม่ได้อยู่ที่ประชาธิปไตย แต่ความผิดอยู่ที่รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อวางกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทางแก้คือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างเพื่อควบคุมกิเลสของนักการเมือง แต่ต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่แก้ไขเพียงบางมาตรา เพราะแก้ยากและไม่คุ้มค่ากับพลังงานที่จะต้องใช้ในการขับเคลื่อน

ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 1-2 มาตราแล้วจะง่ายกว่าแก้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีกลไกป้องกันตัวเองอย่างแน่นหนา ต่อให้เสนอแก้เพียงมาตราเดียว ก็ต้องมี ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง ยกมือสนับสนุน นอกจากนี้ ก็ต้องมีเสียง ส.ส. อีกอย่างน้อย 291 เสียง รวมเป็น 375 เสียง ขึ้นไปยกมือสนับสนุน จึงจะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการได้ แล้วลองนึกภาพตอนสภาโหวตเลือกนายกฯ ดูสิ มี ส.ว.คนไหนกล้าแตกแถวบ้าง แล้วขั้นรับหลักการนี่เพิ่งแค่ด่านแรกเท่านั้น ยังเหลืออีกหลายด่าน แล้วจะเดินถึงเป้าหมายได้อย่างไร 

ทั้งนี้ การล่ารายชื่อประชาชน 50,000 คน หรือ ขอลายเซ็นต์ ส.ส. 100 คน เพื่อขอบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1-2 มาตรา ให้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลังจากนั้น ก็จะไปแพ้โหวตในขั้นรับหลักการอยู่ดี ไม่มีทางแก้ไขสำเร็จ ยกเว้นจะแก้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับเผด็จการ ก็อาจมี ส.ว. ยอมยกมือให้ก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่รื้อโครงสร้างอำนาจเผด็จการ แล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร ประชาชนก็ไม่ได้รับประโยชน์ แล้วกติกาเลือกตั้งก็จะไม่เปลี่ยน ผลเลือกตั้งก็จะวิปริตแบบนี้เหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อย่าแก้แค่บางตรา