อีกทั้งเหตุการณ์ที่ จ.พะเยา หลัง พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ได้พบกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังถูกขับพ้นพรรคเกือบครบ 1 ปี ก็โคจรมาเจอ พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้คุกเข่าไหว้ มอบมาลัย พล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณเตรียมกลับ พปชร. อีกครั้ง ขณะที่ ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ รองหัวหน้า พปชร. ที่เป็นคู่หูของ ร.อ.ธรรมนัส พูดเปรียบ พล.อ.ประวิตร เป็นเสมือนพ่อ ในวันนี้ลูกๆ พร้อมกลับมาทำให้ พปชร. เข็มแข็ง ลูกหุงข้าวรอแล้ว
ถือเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ชัดว่างานนี้ ‘ผู้กอง’ มาแน่ รวมถึง ‘อ.แหม่ม’นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พปชร. ที่ช่วงนี้โพสต์ธรรมะลงเฟซบุ๊กบ่อยครั้ง โดยเฉพาะปริศนาธรรม “ไม่สะสมแต่สะสาง” ถูกตีความเป็นอย่างมาก
เพราะทั้ง ‘ธรรมนัส-นฤมล’ เคยถูก พล.อ.ประยุทธ์ ‘เด้งฟ้าผ่า’ พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ-แรงงาน มาแล้ว ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ‘กบฎเกียกกาย’ จากเหตุการณ์ล้มนายกฯ เมื่อปี 2564 ซึ่งครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติกการชนิด ‘ชนิดฟ้าผ่า’ ไม่บอก พล.อ.ประวิตร ล่วงหน้า แม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส ก็พลิกเกมไม่ทัน แม้จะพยายามชิงแถลงข่าว ‘ลาออก รมช.’ ก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ทัน
เท่ากับว่าขุนพลรอบกาย พล.อ.ประวิตร มีแต่คนที่เป็น ‘โจทก์เก่า’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสิ้น แม้แต่จดหมายที่ออกมา แม้มาจาก ‘อันวาร์ สาและ’ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาซบ พปชร. แทน ซึ่งเนื้อหาในจดหมายก็ได้รับ ‘ไฟเขียว-อนุมัติ’ จาก พล.อ.ประวิตร มาแล้ว อีกทั้งมาจาก ‘คำพูด’ ของ พล.อ.ประวิตร ที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ เท่ากับว่า พล.อ.ประวิตร ย่อมมีส่วนรู้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้
ทว่าในอีกด้านก็มีการมองว่าทั้ง ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ ยังพอมองหน้ากัน คุยกันได้ ด้วยสัมพันธ์พี่น้องกว่า 50 ปี เรียกว่าค่อนชีวิต และมองว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาจาก ‘บริวาร’ ที่เป็นพิษหรือไม่
แต่หากจับท่าที พล.อ.ประวิตร กลับกลายเป็นว่าดูแล้ว ‘เลี่ยงเจอ’ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ลาประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ไป จ.ราชบุรี
ช่วงสาย ไปพบ ส.ส.บ้านใหญ่ พปชร.-ปชป. ในแง่หนึ่งถูกมองว่าเป็นการ ‘ล็อกตัว’ เอาไว้ ไม่ให้ไป รทสช. เพราะ พล.อ.ประวิตร ชิงปาดหน้าไปก่อน พล.อ.ประยุทธ์ 2 วัน ถึงขั้นลาประชุม ครม. ที่ไปทำงานการเมือง ไม่ใช่งานบริหาราชการแผ่นดิน
รวมทั้งการที่ พล.อ.ประวิตร ปาดหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการไป 30ม.ค.นี้ และล่าสุด พล.อ.ประวิตร ไปไหว้พระย่านเยาวราช ช่วงวันตรุษจีน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ช่วงสายเมื่อวันที่ 22ม.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการนำทัพ รทสช. ลงพื้นที่ในช่วงเย็น
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า พล.อ.ประวิตร เลี่ยงเจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่วันที่จดหมายเปิดใจถูกเผยแพร่ เมื่อวันที่ 14ม.ค.ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไปร่วมงานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบ 113 ปี เพราะทั้ง ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ทั้งหมด ขาดเพียง พล.อ.ประวิตร ที่เลือกไปลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร แทน
แม้แต่วันงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ไม่มาร่วมงาน ซึ่งงานถูกกำหนดล่วงหน้ามานานแล้ว ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์ ที่มาร่วมงาน
ส่วน พล.อ.ประวิตร ติดภารกิจเปิดงานวันตรุษจีนที่ปากน้ำโพ โดยตามปกติแล้ว พล.อ.ประวิตร จะไม่พลาดวันทางทหารโดยเฉพาะกับ ทบ. ที่เคยเป็น ผบ.ทบ. ด้วยกันมาทั้งหมดของ ‘3ป.’ จึงต้องจับตางานวันสถาปนา ร.ร.เตรียมทหาร ที่ จ.นครนายกในวันที่ 27ม.ค.นี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็นประธานงานฯ พล.อ.ประวิตร จะไปร่วมงานหรือไม่ เพราะในวันเดียวกันนั้น พปชร. ได้จัดประชุมใหญ่พรรคด้วย
ในแง่หนึ่ง พล.อ.ประวิตร อาจต้องการเลี่ยงเจอ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อีกแง่มีการมองว่า พล.อ.ประวิตร พยายามถอยห่างจาก ‘กองทัพ’ หรือไม่
หรือไม่ให้ภาพตัวเองที่เป็นเสมือนตัวแทน พปชร. ไปเกี่ยวโยงกับ ‘กองทัพ’ หลัง พล.อ.ประวิตร เคยกล่าวในจดหมายเปิดใจ ในช่วงต้นๆ ที่ พล.อ.ประวิตร เล่าประวัติตัวเอง หลังเกษียณฯปี 48 จากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่เฝ้าดูสถานการณ์บ้านเมืองมาตลอด จนมาสู่เหตุการณ์ รปห.57 นำโดย ‘บิ๊กตู่’ อ้างถึงวิกฤตบ้านเมือง ก่อนจะมาร่วม ครม.ประยุทธ์
“ผมได้ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เพื่อหวังจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ต้องยอมรับความจริงว่า คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เพราะต่างก็เป็นทหารอาชีพมาทั้งชีวิต ฝึกฝนเรียนรู้มาในด้านการปกป้องอธิปไตยของชาติ ตัวผมเองก็เช่นกัน แม้จะเคยเป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการเมือง จึงทำได้เพียงช่วยดูแลเหล่าทัพให้มีเสถียรภาพเท่านั้น” พล.อ.ประวิตร กล่าวในจดหมาย
มีการมองว่า พล.อ.ประวิตร พยายามผลักตัวเอง-พปชร. ออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ภาพของ คสช. ที่เป็นคณะรัฐประหาร รวมทั้ง ‘กองทัพ’ ด้วย อีกทั้งเพื่อ‘ฟอกขาวตัวเอง’ ถึงเหตุผบความจำเป็นในการร่วม รบ.ประยุทธ์ หลัง รปห.57 ตามแนวทางของ พปชร. ที่สถาปนาตัวเองเป็น ‘พรรคไร้ขั้ว’ พร้อมจับมือกับทุกพรรคนั่นเอง หรือแม้แต่กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ปิดประตูเช่นกัน
ผิดกับภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังคงความเป็น ‘อดีตทหาร’ มีภาพความเป็น ‘นักการเมือง’ น้อยกว่า พล.อ.ประวิตร อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่พลาดงานทหาร อาจด้วยเป็น นายกฯ และ รมว.กลาโหม โดยเฉพาะความพยายามใกล้ชิดกับน้องๆทหาร โดยเฉพาะกับ ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็น ตท.22 ทั้งหมด รุ่นห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ 10 ปี (ตท.12) โดยเฉพาะกับ ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่เติบโตมาต่างสายกับ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างสายทหารเสือฯ กับ ร.31 รอ. และระหว่าง พล.ร.2 รอ. บูรพาพยัคฆ์ กับ พล.1 รอ. สายวงศ์เทวัญ
สำหรับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ทบ. ทหารคอแดง คนที่ 2 ต่อจาก ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผบ.ทบ. สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ เติบโตมาจาก ร.11 รอ. ภายใน พล.1 รอ. การขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จึงมีความอิสระ เพราะส่วนหนึ่งมาด้วย ‘กำลังภายใน’ และ ‘แบล็คอัพ’ ของตัวเอง ทำให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ปกป้องรัฐบาลจนเปลืองตัว ทำงานในหน้าที่ ทบ. เป็นหลัก หรืองานที่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายในฐานะ รมว.กลาโหม ตามสายบังคับบัญชา
ช่วงปี 2565 มีกระแสข่าว ‘ปลด ผบ.ทบ.’ ในรั้ว ทบ. ที่จะโยก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไปเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ ผบ.ทหารสูงสุด ก่อนเกษียณฯ 1 ปี แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น ในปี 2566 เข้าสู่การเป็น ผบ.ทบ. ปีที่แล้ว ช่วงโค้งสุดท้ายท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีความผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้ง ‘ระยะห่าง’ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ลดลง จึงเกิดภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ โอบไหล่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ หลังงานเลี้ยงวันกองทัพบก สะท้อนสัมพันธ์ทางทหารกับ พล.อ.ประยุทธ์ ยังแนบแน่น
ทว่าในเวลานี้คือช่วงเปลี่ยนผ่านเก้าอี้ นายกฯ กับ ผบ.ทบ. ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ในฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงต้องการ ‘กองทัพ’ เป็น ‘กองหนุน’ สำคัญ โดยมี ‘บิ๊ก ด.’ ที่คอยเชื่อมสัมพันธ์ ‘บิ๊กตู่-กองทัพ’ ในฝั่งกองทัพ-ผบ.เหล่าทัพ ก็ต้องวางตัวให้ดี ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง รวมทั้งดู ‘ทางลม’ จะเกิดเหตุ ‘พลิกขั้วการเมือง’ หรือไม่ หากดูในเวลานี้ ‘ทหาร’ ยังคง ‘อยู่ในที่ตั้ง’ ของตัวเอง ยังไม่มีการขยับใดๆ
ดังนั้นจึงต้องจับตาการจัดโผโยกย้ายนายพลกลางปี ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ จะเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นโผทหารที่สะท้อนถึง ‘สถานการณ์’ ในอนาคตด้วย ที่สำคัญ ผบ.เหล่าทัพ เกษียณฯ ก.ย.นี้ ทุกคน ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางอำนาจทั้ง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ทั้งสิ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง