14 พ.ค. 2563 นับเป็นวันครบรอบ 1 ปี 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการรัฐประหาร นอกจากคณะกรรมการสรรหาเลือกตัวเองดำรงตำแหน่ง ส.ว. และพร้อมใจยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกฯ คำรบสองแล้ว ส.ว. 250 คน มีผลงานอะไรบ้าง 'วอยซ์ออนไลน์' รวบรวมไว้ดังนี้
เริ่มจากการใช้เวลาการประชุมทั้งสิ้น 199 ชั่วโมง ชั่วโมง 15 นาที ตั้งกระทู้ถาม 40 ครั้ง พิจารณาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตามที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 3 ฉบับ พิจารณาอนุมัติพ.ร.ก. 2 ฉบับ
พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง 11 องค์กร พิจารณารายงานประจำปีหน่วยงาน/องค์กร 26 ฉบับ พิจารณาญัตติ 3 ญัตติ และพิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 จำนวน 3 ฉบับ
ส่วนค่าใช้จ่ายโดยประมาณของ 250 ส.ว. ตามคู่มือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ 2562 ในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม มีดังนี้ ประธานวุฒิสภา 119,920 บาทต่อเดือน รองประธานวุฒิสภาสองคน 115,740 บาทต่อเดือน ส.ว. 247 คนละ 113,560 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ในการแต่งตั้งทีมงานของส.ว. 250 คน ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ค่าตอบแทน 24,000 บาทต่อเดือน ผู้ชำนาญการสองคน รวมค่าตอบแทน 30,000 บาทต่อเดือน และผู้ช่วยดำเนินการห้าคน รวมค่าตอบแทน 75,000 บาทต่อเดือน รวมค่าใช้จ่ายรายเกี่ยวเนื่องกับ 250 ส.ว. จากการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อย คือ 373,058,640 บาท
เมื่อนำค่าใช้จ่ายโดยประมาณของ 250 ส.ว. ไปหารกับชั่วโมงการทำงานข้างต้น ภาษีของประชาชนที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ยึดโยงประชาชนจะตกชั่วโมงละ 1,872,314 บาท หรือนาทีละ 31,205 บาท
ขณะเดียวกัน การทำงานในฐานะสภาสูง เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของรัฐบาลกลับพบเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยมีลักษณะเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล
ทั้งยังขัดขวางการตรวจสอบที่ผลักดันของฝ่ายค้าน เช่น ข้อเสนอการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท การไม่ให้ความร่วมมือฝ่ายค้านเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19
กลไกการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) อันถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชน ยังไม่มีผลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่การแต่งตั้งคณะ กมธ. 27 คณะมากกว่า ส.ว.ชุดที่ผ่านมา
โดยการประชุมกมธ.จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมครั้ง 1,500 บาท ซึ่ง ส.ว. 1 คนสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 คณะ ทั้งยังแต่งตั้งคณะอนุกมธ.อีกจำนวนมาก ที่ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมครั้งละ 800 บาทอีกจำนวนมาก
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า กมธ.สามัญ จำนวน 27 คณะ มีส.ว.สังกัดจำนวนแตกต่างกันไป ระหว่าง 13-19 คน โดยมีการประชุมรวมกันโดยประมาณ 640 ครั้ง คิดเป็นเงิน 15,988,500 บาท และตั้งอนุกมธ.โดยประมาณ 121 คณะ
ไม่เพียงเท่านี้ ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังค้นพบงบเลี้ยงดูปูเสื่อ 250 ส.ว. จิปาถะอีกจำนวนมาก เช่น ค่าอาหารเลี้ยงรับ ส.ว. 16,240,000 บาท ค่าพาหนะเดินทางส.ว. 10,300,000 บาท ค่าใช้จ่ายการจัดสัมนาของส.ว. 11,187,200 บาท ค่าอาหารรับรองกมธ.สามัญ-วิสามัญ 11,500,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการภายในประเทศ 18,400,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายให้กับสภาสูงที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชน อย่างน้อย 456,674,340 บาท เมื่อรวมกับยอดกับการสรรหาส.ว. 50 คนจากกลุ่มอาชีพที่ กกต.เปิดเผยว่า ใช้งบประมาณ 463 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อแต่งตั้ง 250 ส.ว. ในปีแรกจะอยู่ที่ 919 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย
ส่วนยอดบริจาคช่วยเหลือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 12,360,220 บาท ของสภาลากตั้ง จึงไม่อาจเทียบได้กับรายจ่ายจากภาษีประชาชนเกือบ 1 พันล้านบาท สำหรับเลี้ยงดู 250 สมาชิกสภาลากตั้ง ที่ไม่ได้มีผลงานใดๆ ตอบสนองกลับมานอกจากมีผลงานชิ้นโบว์แดง คือ ร่วมขานชื่อไม่แตกแถวในการลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ค้านมติมหาชนที่เทเสียงส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมืองอันดับ 1 ที่ควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง