ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลัง ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ลงนามในคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งให้ พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในด้านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แสดงให้เห็นท่าทีของไทยที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหารเมียนมาที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนไปตั้งแต่ ก.พ. 2564

ดอนอ้างว่าการแต่งตั้งพรพิมลเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว เกิดจากการที่ตนมีภารกิจจำนวนมาก ขณะที่พรพิมลเป็นผู้มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศเมียนมา จึงได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพื่อช่วยทำหน้าที่แทนตนในเรื่องที่เกี่ยวกับเมียนมา เพราะนางพรพิมลถือเป็นผู้ใหญ่ และมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเน้นอะไรเป็นพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับเมียนมา

ดอนกล่าวอีกว่า ผู้ที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีสามารถเข้ามาช่วยงานรัฐมนตรีได้มากอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถทำหน้าที่พูดคุยหารือกับบุคคลระดับสูงของประเทศอื่นๆ ได้ จึงต้องแต่งตั้งให้พรพิมลเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถทำหน้าที่ไปพูดคุยกับบุคคลระดับสูงของประเทศอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่เคยมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในลักษณะนี้มาก่อน โดยดอนอ้างว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอื่นก็มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษอย่างนี้เช่นกัน อาทิ สหภาพยุโรปก็มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นก็มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาเหมือนกัน ก่อนย้ำว่าเป็นการหาคนมาช่วยทำงานดูแลเรื่องนี้ ทำให้การทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับเมียนมามีความสะดวกมากขึ้น เพื่อช่วยกระจายงานกันไปทำ

จากรายงานของรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ที่ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เปิดเผยว่า พรพิมล กาญจนลักษณ์ มีชื่อเล่นว่า อิ๋ว เธอเป็นภรรยาของ ชูพงษ์ กาญจนลักษณ์ ซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิดกันกับ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ จากกลุ่มบ้านฉาง ทั้งนี้ พรพิมลขึ้นชื่อในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์ตัวเด่นของไทยในสหรัฐฯ (ล็อบบี้ยิสต์เป็นอาชีพถูกกฎหมายในสหรัฐฯ)

ดนัยเล่าปูพื้นถึงพรพิมลในเรื่องความเด่นดังด้านการเป็นล็อบบี้ยิสต์ว่า สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจชาวไทยพยายามต้องการจะซื้อแฟรนไชส์ ‘บล็อกบัสเตอร์’ บริษัทเช่าวิดีโอภาพยนตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ เพื่อเข้ามาเปิดในประเทศไทย มีความพยายามในการเข้าหาวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงตัวบริษัทบล็อกบัสเตอร์ ทั้งนี้ มีข้อครหาว่าการวิ่งเต้นเพื่อเข้าถึงตัวเจ้าของบล็อกบัสเตอร์ จำเป็นจะต้องอาศัยเส้นสายของผู้มีอำนาจในวุฒิสภาสหรัฐฯ ดนัยกล่าวว่า พรพิมล หรือ ‘พอลีน’ มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นดังกล่าวด้วย

จากการดูประวัติของพรพิมลที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างปี 2541-2542 พรพิมล หรือในอีกชื่อว่า ‘พอลีน’ เคยต้องคดีในสหรัฐฯ ฐานการติดสินบนในฐานะล็อบบี้ยิสต์ต่างชาติต่อคณะกรรมการทางการเมืองระดับชาติและระดับรัฐจากพรรคเดโมแครตเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 679,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 27 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปี 2542) จนเกิดการส่งรายงานเท็จต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FEC)

จากรายงานของ The New York Times เมื่อปี 2539 เปิดเผยว่า พรพิมลได้จัดการประชุมทำเนียบขาวสำหรับผู้บริหารจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ จากรายงานระบุอีกว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่ม C.P. Group พร้อมผู้บริหารของบริษัทอีก 2 คน ปรากฏตัวพร้อมกับพรพิมลในการประชุมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2539 โดยมีประธานาธิบดี บิล คลินตัน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการพรรคเดโมแครต 3 คน ได้แก่ โดนัลด์ แอล. ฟาวเลอร์ ประธานระดับประเทศ มาร์วิน เอส. โรเซน ประธานฝ่ายการเงิน และ จอห์น หวง รองประธานฝ่ายการเงิน อยู่ในที่ประชุมด้วย ทั้งนี้ ทำเนียบขาวไม่ได้เปิดเผยว่าการหารือในครั้งนี้มีการพูดคุยในประเด็นใด

The New York Times เปิดเผยอีกว่า พรพิมลเคยทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์อยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี ในฐานะคนของบ้านฉางกรุ๊ป จากบันทึกความปลอดภัยของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2536 เธอเดินทางเข้าออกทำเนียบขาว 26 ถึง 33 ครั้ง เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ และงานเลี้ยงกาแฟที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพรรคเดโมแครต ตลอดจนการประชุมกับเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ด้วย

สำนักข่าว UPI รายงานว่า คำฟ้องของรัฐบาลกลางในสำนวนคดีเมื่อปี 2541 ระบุว่า พรพิมลได้เข้าร่วมประชุมกาแฟกับประธานาธิบดีคลินตันที่ทำเนียบขาว ในวันเดียวกับที่เธอบริจาคเงิน 85,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) ให้กับพรรคเดโมแครต นอกจากนี้ ดวงเนตร โครเนนเบิร์ก น้องสะใภ้ของพรพิมลยังถูกคณะลูกขุนใหญ่ของสหรัฐฯ ตัดสินว่ามีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จำนวน 24 กระทง อย่างไรก็ดี จากรายงานของดนัยเปิดว่า ปัจจุบันนี้ พรพิมลแทบไม่เหลือบทบาทของตนเองในฐานะล็อบบี้ยิสต์ในพื้นที่ทางการเมืองของสหรัฐฯ อีกแล้ว

อย่างไรก็ดี ในปี 2542 ศาลแขวงสหรัฐประจำเขตโคลัมเบียยกฟ้องพรพิมลและดวงเนตร โดยศาลแขวงสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ล้มเหลวในการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้รับรายงานเท็จโดยตรง ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของชาวสหรัฐฯ ถึงสายสัมพันธ์ของเธอและกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย กับนักการเมืองระดับบนของสหรัฐฯ ดนัยระบุว่า เครือ C.P. ไม่เข้าไปอาศัยการล็อบบี้โดยพรพิมลอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้น พรพิมลเข้ามาเป็นคอลัมนิสต์ในเครือเนชั่นยุคสุทธิชัย หยุ่น ด้วยสไตล์การเขียนที่ก้าวร้าวดุดัน และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ก่อนที่รัฐบาลพลเรือนนี้จะถูกรัฐประหารลงในปี 2557 และเข้าสู่ยุคของคณะรัฐประหาร คสช. ที่ขึ้นมามีอำนาจจนถึงปัจจุบัน 

พรพิมลได้รับการแต่งตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มี ดอน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรพิมลถูกดอนส่งไปปฏิบัติหน้าที่แทนตนเองในหลายโอกาส ทั้งการเจรจาต่างๆ กับต่างประเทศ รวมถึงการลงพื้นที่เมื่อ ส.ค. 2563 ณ จังหวัดสุโขทัย เพื่อลงตรวจสถานการณ์อุทกภัย และประเมินผลกระทบ ปรึกษาหารือเพื่อวางแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สร้างความสงสัยถึงบทบาทของเธอที่มีในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ล่าสุด พรพิมลเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ช่วยเปิดทางในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของไบโอเอนเทค บริษัทร่วมผลิตวัคซีน mRNA เช่นเดียวกับไฟเซอร์ โดย นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2564 ทั้งนี้ นพ.บุญระบุกับดนัยในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ตนใช้งานพรพิมลในฐานะล็อบบี้ยิสต์ที่มีความสนิทกันเป็นการส่วนตัวเพื่อแนะนำให้รู้จักคนอีกทอด ซึ่งในสหรัฐฯ อาชีพดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และมีการจ่ายเงินกันอย่างเปิดเผยบนโต๊ะ

นพ.บุญระบุว่าพรพิมลมีผลงานมาหลายเรื่องจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในเดือน ส.ค. 2564 ดีลการเจรจาวัคซีนของไบโอเอนเทคกลับล่มลง ทั้งนี้ นพ.บุญระบุว่า ดีลการเจรจาวัคซีนในครั้งนั้นไม่ได้อาศัยพรพิมลเป็นตัวกลาง และตนมีล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ ที่ใช้งานเอง 

พรพิมลกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังจากดอนแต่งตั้งให้เธอเป็นผู้แทนพิเศษของ รมว.กต.ในด้านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภายใต้หน้าที่ 5 ประการได้แก่

1.ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการของส่วนราชการภายในกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นไปตามข้อริเริ่มและนโยบายของ รมว.กต.ที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา

2.ประสานงานที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการภายนอก กต.และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

3.เป็นผู้แทนเข้าร่วมการเจรจา ประชุม และการสัมมนาภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเมียนมาเมื่อได้รับคำสั่งเป็นรายกรณี

4.รายงานผลการปฏิบัติน้าที่และพัฒนาการที่สำคัญต่อ รมว.กต.โดยตรง

5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ยังคงต้องจับตาต่อไปว่า พรพิมลจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ที่ถูกวิจารณ์จากประชาคมโลกว่ามีความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะประนามการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และการสังหารชีวิตประชาชนและกองกำลังชนกลุ่มน้อยจำนวนมหาศาลก็ตาม


ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=uWBM3EHhLrs

https://www.youtube.com/watch?v=gncsmD44bDM

https://www.upi.com/Archives/1998/07/16/Thai-lobbyist-to-fight-US-charges/5106900561600/?fbclid=IwAR19c28XYHY8D7-f2QqisGmBYUEcIYIJDpsapfPsxU-_tCBjQoXNzGEpink

https://www.nytimes.com/1996/12/27/us/actions-by-donor-raise-new-questions-about-buying-access-to-president.html

https://law.justia.com/cases/federal/appellate-courts/F3/192/1037/594125/

https://www.fec.gov/legal-resources/court-cases/usa-v-kanchanalak-et-al/