ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเปิดเสวนา 'อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19' ยันฝ่ายค้านเดินหน้าตรวจสอบเงินกู้แก้วิกฤต แนะดันไทยเป็น 4 ศูนย์กลางฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ซัดรัฐบาลกู้เงินไม่เห็นทิศทางอนาคต ตั้ง กก.กลั่นกรองไม่กี่คน แต่เมินรายงานสภา จวกเงิน 5 พันบาทเยียวยาช้าทำคนส่วนใหญ่หิวโหย ฆ่าตัวตายรายวัน

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดเสวนา "อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19" โดยระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องพิจารณาในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน คือ “ความสมดุลด้านระบาดวิทยา กับ เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ” โดยประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้อยู่หมัดบนซากปรักหักพัง และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อ จนกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับเป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้ พร้อมกับประคองเศรษฐกิจ ให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศควบคุมการระบาดได้ดี แต่การออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น มากเกินความจำเป็น และมีผลกระทบสูงต่อการใช้ชีวิตของประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นต่อเรื่องนี้ และได้มีการเรียกร้องให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้คนได้ใช้ชีวิตการงานเพื่อเลี้ยงปากท้องของตนและครอบครัว ก่อนสถานการณ์เศรษฐกิจจะล้มละลายจนยากเกินเยียวยา

แนะดันไทยเป็นศูนย์กลาง 4 ด้านฟื้นฟูบาดแผลโควิด-19

นายสมพงษ์ระบุว่า หลังจากโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร ในประเด็นนี้ ตนมองเห็นโอกาสของไทยที่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้เกิดศูนย์กลาง 4 ด้าน เป็นโอกาสที่จะต้องไขว่คว้าให้ได้ ในยามที่นานาประเทศต่างกำลังฟื้นฟูภาวะทางสังคม เศรษฐกิจจากบาดแผลของโควิด-19 และหาลู่ทางทำธุรกิจแนวใหม่ที่แตกต่างจากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ

1. "ศูนย์กลางการท่องเที่ยวปลอดภัย" ไทยเป็นประเทศที่สามารถคุมการระบาดได้ดี อันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่นกำลังมีปัญหา และเต็มไปด้วยความกังวล หวาดกลัว การท่องเที่ยวในประเทศเราสามารถเริ่มได้เร็ว และไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ภายใต้มาตรการป้องกันที่รัดกุมและผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของไทยในการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยเน้นความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นใจ และใช้จุดเด่นในเรื่องการป้องกันทางสาธารณสุขเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว

2. "ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข" การรับมือโควิด-19 ได้แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งด้านระบาดวิทยา ที่ทำให้อัตราการแพร่ระบาดต่อประชากรต่ำ และด้านการรักษาที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ป่วยต่ำมาก ไทยมีต้นทุนภาคอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม สปา การใช้สมุนไพรและธรรมชาติบำบัด เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานสูง และยังมีภาคเอกชนด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งมาก เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โอกาสในการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขที่เชื่อมโยงไปกับการพัฒนาสุขภาพและการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มาก

3. "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้ากลางน้ำแหล่งใหม่" ช่วงก่อนสงครามการค้า ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวพันกับประเทศจีน สงครามการค้าเป็นความพยายามที่จะสร้างอีกหนึ่งห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการค้าโดยไม่ผ่านจีน หากไม่มีเรื่องโควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะมี 2 ห่วงโซ่ใหญ่ๆ คือ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก แต่หลังจากโควิด-19 การที่เศรษฐกิจโลกมีเงื่อนไขผูกมัดกันมาก การผลิตผูกพันกันสูง ทำให้ความเสียหายกระจายในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่โลกจะปรับตัวในการสร้าง 'ผู้ผลิตกลางน้ำ' รายเล็กๆ ขึ้น โดยลดการพึ่งพิงการผลิตจากชาติใหญ่

"ผมมองตรงนี้เป็นโอกาส ไทยมีศักยภาพในการเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับโลกยุคใหม่ เพราะเรามีค่าแรงที่ไม่แพง มีวัตถุดิบมหาศาล มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่ดี จังหวะที่ทั้งโลกต่างเข็ดขยาดกับการผูกขาดการผลิตในรูปแบบเดิม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะช่วงชิงโอกาสนี้มา"

4. “ศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก” อุตสาหกรรมหนึ่งที่อยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เพราะมนุษย์จำเป็นต้องบริโภค และยิ่งจะเลือกบริโภคมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติการณ์นี้ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการผลิตอาหารป้อนโลก แต่ยังทำได้ไม่ดีนักเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งตรงนี้หากพัฒนาได้จะเป็นการสร้างมูลค่าการผลิตแบบก้าวกระโดด จากสินค้าการเกษตรพื้นฐาน กลายเป็นสินค้าการเกษตรคุณภาพ ราคาสูงที่เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งกำลังจะเป็นแนวโน้มของโลกข้างหน้า

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า 4 โอกาสข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ แต่ในทางตรงข้าม จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหากรัฐบาลไม่กระตือรือร้น สร้างสรรค์ และยังคงวนในกับดักเก่าที่ทำงานและบริหารแบบเดิมไปเรื่อยๆ

ซัดกู้เงินไม่เห็นทิศทางอนาคต ตั้ง กก.กลั่นกรองไม่กี่คน แต่เมินรายงานสภา

"รัฐบาลนี้ได้กู้เงินจำนวนมหาศาล แต่ผมมองไม่เห็นทิศทางการวางอนาคตให้ประเทศสักเท่าใด นอกจากความกังวลใจที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยว่า จะมีการนำทรัพยากรและเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ไปหาประโยชน์ทางการเมืองและหาประโยชน์ส่วนตนของพวกพ้อง ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่กำลังเฝ้าติดตามดู และอยากเห็นการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมียุทธศาสตร์ ผมอยากฝากให้รัฐบาลมองสถานการณ์หลังโควิด-19 ให้เห็นถึงโอกาส และใช้งบประมาณเหล่านี้ เป็นเครื่องมือไปสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งโอกาสให้ประเทศ"

นายสมพงษ์ ระบุว่า เงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงลูกหลานเป็นลูกหนี้ต่อไปอีกยาวนาน แต่รัฐบาลเป็นคนเอาเงินไปใช้ ฉะนั้นเงินกู้จากสถานการณ์นี้จึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อฐานเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้

"พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ที่ทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงิน กลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นระบบที่หละหลวมและอาจเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่ง" นายสมพงษ์ ระบุ

จวกเงิน 5 พันบาทเยียวยาช้าทำคนส่วนใหญ่หิวโหย ฆ่าตัวตายรายวัน

นายสมพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของเงินเยียวยาที่จัดสรรให้ประชาชนเดือนละ 5,000 บาท เป็นจำนวน 3 เดือน ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการปฏิบัติ เงินช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก ล่าช้า ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ไม่ทันการ จนเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่ ต้องประสบกับภาวะอดอยาก หิวโหย แร้นแค้นโดยไม่จำเป็น กระบวนการที่ขาดการเตรียมความพร้อม กลับส่งผลให้คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรจำนวนมาก สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรม และมีคนฆ่าตัวตายรายวัน อันเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนจากปัญหาการจัดการนี้

พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูฯ ได้เปิดช่องให้มีการใช้วงเงินตามอำเภอใจ จนเป็นเหตุให้เกิดเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตก สูญเปล่า หรืออาจมีการใช้เพื่อผลทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลและเอื้อกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ส่วน พ.ร.ก.ช่วยเหลือวิสาหกิจฯ หากไม่มีหลักการที่รัดกุมอาจเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย จนก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

"ทั้งหมดคือความจำเป็นสำคัญ ที่ตัวแทนของประชาชน ผู้มีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้ เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง