ไม่พบผลการค้นหา
"หมูตายก็สร้างหมูใหม่ขึ้นมา เพาะพันธุ์หมูขึ้นมาให้มันเพียงพอ” เป็นประโยคหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่โซเชียลเอาไปขยายผลแซวกันมากมาย นายกฯ ยังพูดด้วยว่าจะต้องตรวจสอบการกักตุนหมูแช่แข็งในห้องเย็นของผู้ผลิตขนาดใหญ่ด้วย

แต่ประเด็นนั้นจะพักไว้ก่อน แล้วมาดูว่า ‘การสร้างหมูใหม่’ สำหรับเกษตรกรตอนนี้ยากง่ายเพียงไหน โดยพูดคุยอย่างละเอียดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่จังหวัดโคราช และจังหวัดพะเยา

“ทุกวันนี้ผมแทบจะโงหัวไม่ขึ้นและสิ้นหวังมากๆ” ‘ขวัญ’ - เกษตรกรที่จังหวัดพะเยากล่าว การระบาดของ ASF หนนี้ทำให้เขาเป็นหนี้ธนาคาร 5 ล้านบาท

ขวัญยึดอาชีพเลี้ยงหมูมานับ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ยังไม่ประสีประสาแล้วทำฟาร์มแบบผูกกับบริษัทใหญ่(มาก)แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาฟันธงว่าไม่มีทางรวย จนกระทั่งเขาเริ่มเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ผสมพันธุ์เอง ผสมอาหารเองธุรกิจฟาร์มหมูจึงเติบตัวขยายตัว

“ต้นทุนต่อตัวตอนเลี้ยงกับบริษัทใหญ่ กำไรแทบไม่เหลือ เหลือน้อยมากแค่หลักน้อยต่อตัว ไม่มีทางรวย เพราะโดนขีดกรอบให้หมด เขาเอามาลงให้ทุกอย่าง ต้องเดินตามหมด ถ้าหมูเขาตายเขาก็หักจากเราหมด กลายเป็นเราเลี้ยงดูไม่ดี แต่ถ้าผสมอาหารเองหรือซื้อของบริษัทอื่นยังเหลือหลักพันต่อตัว แต่ก็ต้องขึ้นกับราคาตลาด ณ เวลานั้นด้วย”

ขวัญขยายฟาร์มจนมีแม่หมูจำนวน 200 ตัว มีหมูขุนอีก 800-900 ตัว ซึ่งเขาให้นิยามว่ายังเป็น ฟาร์มขนาดเล็ก เพราะหากเป็นฟาร์มขนาดกลางต้องมีหลักพันตัว ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่นั้นมีหมูเป็นหมื่นตัว

โรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เล่นงานพื้นที่พะเยาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ต้นปี 2564 แม้หมูในฟาร์มของขวัญไม่ติดโรคนี้ แต่บริเวณนั้นมี ASF ระบาดในฟาร์มอื่น เขาจึงถูกบีบให้ขายออกหมด

“ความที่สนิทกับปศุสัตว์ในพื้นที่ เขาก็บอกความจริงว่าโรคอะไร แต่ไม่รู้ว่าพอส่งเข้าจังหวัดส่งเข้ากระทรวงแล้วข้อมูลมันกลายเป็นอย่างไร เขาก็แนะนำให้เลิกเลี้ยง เพราะโรคมันวนเวียนอยู่แถวนี้ ถ้าใครจะเลี้ยงปศุสัตว์ไม่ยุ่งแล้ว ไม่มาจัดการให้ เขาก็พูดแค่นี้”

ขวัญต้องรีบขายแม่หมู ซึ่งจริงๆ ควรจะได้ราคาตัวละ 40,000 บาท แต่เมื่อมีโรคระบาดในพื้นที่ พ่อค้าคนกลางกดราคาให้ตัวละ 5,000 บาท แล้ว รวมแล้วรอบนั้นเขาเจ๊ง ติดหนี้สินธนาคารราว 5 ล้านบาท และตัดสินใจเลิกทำฟาร์มหมู

"เขาพูดได้คำเดียว่า อยู่รัศมี 5 กม.ที่มีการระบาด จะขายไหมหรือจะให้เข้าไปทำลาย เขาพูดคำเดียว่า ทำลาย แต่ไม่เคยพูดว่าจะมีค่าชดเชยนั่นโน่นี่ แถวบ้านผมผู้เลี้ยงที่ให้ปศุสัตว์มาทำลาย ตายกันหลายรายแล้วเพราะไม่ได้ค่าชดเชย"

"บางที่เขาไม่ได้สนใจ เข้าทำลายทันที แล้วอาจจะอ้างค่าชดเชย ชาวบ้านก็ยอมให้ทำลาย แต่สุดท้ายยื้อไปเรื่อย ไม่ได้จริง บางจุดปศุสัตว์จะออกค่าขนฆ่าขุดให้ แต่บางจุดชาวบ้านก็ต้องออกเอง"

ขณะที่ ‘แมน’ เกษตกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่จังหวัดโคราช เจ๊งกับโรคระบาดรอบนี้ไป 2 หน สูญเงินรวมๆ แล้วราว 500,000 บาท

รอบแรกเลี้ยงหมู 50-60 ตัว โรคเริ่มเข้ามาปลายปี 2563  พอเริ่มมีหมูป่วยตาย ทางออกของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากไม่ใช่การกำจัดหมูทิ้ง แต่เป็นการรีบขายหมูที่เหลือในราคาถูก จากนั้นเขาฆ่าเชื้อเล้าทุกวัน เว้นไป 3 เดือนแล้วจึงเริ่มเลี้ยงใหม่อีกหน แต่เลี้ยงไปไม่ทันพ้น 4 เดือนก็เจอโรคระบาดอีก อาการเริ่มแรกของหมู คือ เบื่ออาหาร ใช้เวลาไม่เกิน 4 วันก็ตาย

“หลังการระบาดรอบแรก ผมแจ้งปศุสัตว์ เขาลงมาดูแล้วบอกว่าเป็นโรคระบาดในหมูที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว ชาวบ้านเคยเจอ ก็ไปซื้อวัคซีน ซื้อยามาใช้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล รอบสองปศุสัตว์บอกว่า เป็นโรคระบาดที่ยังไม่มียา ไม่มีวัคซีน และแนะนำให้ทำลายทั้งหมด”

“เกษตรกรรายย่อยมากๆ เขาจะทำลายเฉพาะหมูที่เป็นโรค ไม่อยากทำลายหมูอื่นๆ ในคอกที่ยังไม่ป่วย เพราะลงทุนไปมากแล้ว ให้ทำลายก็เท่ากับเงินสูญไปเฉยๆ เลย ถึงจะพอเดาได้ว่าหมูติดโรคแล้ว ดังนั้น เวลามีหมูตาย สิ่งที่ทำคือ รีบขายหมูที่เหลือในราคาถูกกว่าราคาตลาดมากๆ เรื่องนี้พวกพ่อค้าส่ง เขียงหมูรู้ดี”

“ส่วนที่ต้องเอาไปทำลาย ชาวบ้านเขาจ้างแบคโฮมาขุดหลุมฝังเองในพื้นที่ห่างไกลชุมชน โรยปูนขาว ยาฆ่าเชื้อ ต้นทุนพวกนี้ต้องออกเอง ส่วนค่าชดเชยก็ไม่ได้เพราะเกษตรกรรายย่อยไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับปศุสัตว์ ซึ่งมาตรฐานการเลี้ยงของชาวบ้านอาจยังไม่ได้ มันก็เลยเหมือนเป็นเกษตรกรนอกระบบ”

สถานการณ์นี้เป็นมายาวนานแล้ว โชคดีที่โรค ASF ไม่ทำอันตรายต่อคน

ผศ.นายสัตวแพทย์ ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า โรค ASF ไม่ติดในคน ไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อคน รับประทานแล้วไม่เป็นอะไร แต่คนจะทำหน้าที่เป็นตัวแพร่เชื้อ โดยเชื้อสามารถติดไปตามร่างกาย เสื้อผ้า ถ้ารับประทานหมูที่มีเชื้อในอุจจาระก็จะมีเชื้อ ASF  อีกทั้งมีรายงานว่าเชื้อนี้มีอายุยืนยาว ถ้าแช่แข็งอยู่ได้ประมาณพันวัน ถ้าแช่เย็นอยู่ได้ 110 วัน ถ้ารมควันอยู่ได้ 30 วัน หากทำหมูเค็มอยู่ได้ 182 วัน  ถามว่าการปรุงอาหารจะฆ่าเชื้อนี้ได้ไหม ก็เรียกว่าค่อนข้างยาก ถ้าใช้อุณหภูมิปรุงอาหารที่ 70 องศา ต้องใช้เวลานานถึง 30 นาทีเชื้อจึงจะตาย ส่วนวิธีดูเนื้อหมูที่ขายในตลาด อาจสังเกตได้ว่ามีจุดเลือดออกจุดเล็กๆ ตามอวัยวะต่างๆ และในเนื้อแดงหรือไม่  

อย่างไรก็ตาม แมนยังไม่ถอดใจ เขายังเลี้ยงหมูอีกเป็นรอบที่ 3 แต่จะระมัดระวังมากขึ้น โดยสืบหาข้อมูลการป้องกันเองจากอินเทอร์เน็ต

เมื่อถามว่าต้นทุนในการเลี้ยงหมูเป็นอย่างไร และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากไหม ข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรรายย่อยอย่างแมนคือ

1.ค่าลูกหมู (อายุ 45 วัน)

ก่อนปี 2561 ที่จะมีการระบาดในจีน ราคาลูกหมู ( 15 ก.ก.) ตัวละ 1500-1800 บาท

ช่วงปี 2563-2564 ราคาตัวละ 2,000-2,500 บาท

ช่วงต้นปี 2565 ราคาตัวละ 3,500 บาท

2.ค่าอาหาร

ปกติเกษตรกรจะเลี้ยงหมูจนมีอายุ 6 เดือนจึงขายเข้าโรงเชือด ในระยะเวลานี้จะกินอาหารประมาณ 3 รูปแบบ

อาหารเบอร์ 1 ก่อนปี 2561 ราคาประมาณกระสอบละ 650 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 750 บาท

อาหารเบอร์ 2 ก่อนปี 2561 ราคาประมาณกระสอบละ 470 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 540 บาท

อาหารเบอร์ 3 ก่อนปี 2561 ราคาประมาณกระสอบละ 410 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 470 บาท

ดังนั้น หากคำนวณคร่าวๆ จะพบว่า หมูขุน 1 ตัวเลี้ยงจนมีอายุ 5-6 เดือน จะกินอาหารรวม 7 กระสอบ ต้นทุนในการเลี้ยงต่อตัวจึงเท่ากับ

  • ค่าลูกหมูตัวละ 3,500
  • ค่าอาหารเฉลี่ย 600 x 7 = 4,200 บาท
  • ค่าวัคซีนต่างๆ = 500 บาท
  • รวม  8,200 บาท

ราคาช่วงนี้ที่หมูแพง ราคากลางซื้อขายหมูมีชีวิตกันหน้าฟาร์มตกที่ราวๆ 100 บาทต่อ ก.ก.

น้ำหนักของหมูมีชีวิตที่ซื้อขายกันคือตัวหนึ่งหนัก 100-120 ก.ก. ถ้าเบากว่านั้นหรือหนักกว่านั้นมักขายไม่ได้ราคาที่ดีที่สุด ดังนั้น คาดหมายว่า เกษตรกรน่าจะได้ขายหมูโตเต็มวัย 100 ก.ก.ได้ในราคา 10,000 บาท โดยต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 8,200 บาทโดยประมาณ

“แต่ความเป็นจริงพ่อค้าคนกลางไม่ให้ราคาขนาดนั้น อย่างที่ดีที่สุด ดีสุดเลยนะ จะได้ประมาณ 9,000-9,500” แมนกล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตอนนี้แย่ยิ่งไปกว่าเดิม เพราะสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เกษตรกรรายย่อยขายหมูได้ยากทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ เปลืองต้นทุนอาหาร ราคาที่ขายกันอยู่ที่เพียง 60 ต่อก.ก.เท่านั้น แปลว่า ถ้าขายได้ พวกเขาจะได้เงินราว 6,000 บาทต่อหมู 1 ตัวที่มีน้ำหนัก 100 ก.ก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่านั้น

เรื่องนี้แม้แต่นายกฯ ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ตกลงหมูหายไปจากตลาดเท่าไร กรมปศุสัตว์บอก 20% สมาคมผู้เลี้ยงหมูบอก 50% และหมูหน้าฟาร์มก็ราคาไม่แพง แต่บนป้ายราคาที่ขายให้ผู้บริโภคทำไมจึงแพงมาก  

นอกเหนือจากเรื่องโรคระบาด ต้นทุนการเลี้ยงหมูอย่างราคาอาหารหมูก็ปรับตัวสูงขึ้นมาก เกียรติ สิทธิอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เคยอภิปรายว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่ลดภาษีน้ำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เพราะอย่างถั่วเหลือง หรือเมล็ดทานตะวันก็มีภาษีนำเข้าสูงถึง 35% แล้ว

ยังไม่นับว่า อาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ มีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอยู่เพียงไม่กี่เจ้า

“โรคระบาดก็หนัก โควิดก็ยังมาซ้ำ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเงียบมาก ปกติผมขายเนื้อหมู ชิ้นส่วนหมู หมูแช่แข็ง ได้วันละ 40,000-50,000 บาทในช่วงปีใหม่ปีอื่นๆ แต่ปีใหม่ปีนี้ขายได้ไม่ถึง 10,000 บาท และเมื่อวานสดๆ ซิงๆ ผมขายได้แค่ 200-300 บาทเอง มันวิกฤตทุกอย่างวันนี้” ขวัญ เกษตรกรจากจังหวัดพะเยากล่าว

" ชีวิตผมไม่มีความหวังตั้งแต่เขามาเป็นรัฐบาล มีแต่ตกต่ำมาเรื่อยๆ ถ้าเขาช่วยได้จริง ช่วยให้ธนาคารของรัฐพักหนี้ให้เกษตรกรรากหญ้าบ้างที่เขากู้มาปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านทุกคนอยากขอเฉพาะหน้าแค่นี้" ขวัญกล่าว

“แถวบ้านผมเคยมีคนเลี้ยงหมูประมาณ 10 กว่าเจ้า อาชีพหลักคือทำนา แต่การเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม เดี๋ยวนี้แทบไม่เหลือแล้ว ผมเองขายอาหารสัตว์ด้วย ก่อนโรคจะระบาดขายได้เดือนละเป็นพันกระสอบ ตอนนี้ขายได้ไม่ถึงร้อยกระสอบ”