โรงเรียนบนเกาะฮ่องกงถูกปิดมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเปลี่ยนไปจัดการเรียนการสอนที่บ้านผ่านออนไลน์ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นี่กำลังสร้างความกังวลให้กับนักเรียนและผู้ปกครองหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร อย่างเช่น 'เวนดี้' นักเรียนหญิงวัย 12 ปี คนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับแม่วัย 48 ปี ซึ่งเป็นคนว่างงานในบ้านที่มีเพียงห้องนอนเดียว
เธอบอกว่าพบปัญหาจากการเรียนออนไลน์ เช่นเมื่อใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตเกินลิมิต เธอก็ไม่สามารถฟังครูได้ชัดเจนอีกเพราะวิดีโอก็จะเล่นช้าลง บางครั้งระบบก็ให้เธอล็อกเอาท์เนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ดี เวนดี้บอกว่าได้รับบริจาคแล็ปท็อปจากโบสถ์แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าบรอดแบนด์ ดังนั้นการใช้โทรศัพท์มือถือของแม่จึงเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถเรียนออนไลน์ได้
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อขจัดความยากจนอย่าง The Society for Community Organisation หรือ SoCo ประเมินว่า จากจำนวนเด็กฮ่องกง 1 ล้านคน มีอยู่ประมาณ 237,100 คน ที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย แม้นโยบายการศึกษาดังกล่าวมีเป้าหมายยกเลิกชั้นเรียนแต่ไม่ยกเลิกการเรียน แต่สำหรับนักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยที่ขาดแคลนทรัพยากรแล้ว พวกเขาต้องหยุดทั้งเข้าชั้นเรียนและการเรียนรู้
ผลสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งฮ่องกงพบว่า กว่า 2 ใน 3 ของผู้ปกครองไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร เชื่อว่าลูกของพวกเขาจะเรียนได้ลำบากเมื่ออยู่ที่บ้าน ส่วนการสำรวจของ SoCo ที่สำรวจนักเรียนรายได้น้อยเกือบ 600 คน พบว่ากว่าร้อยละ 70 ไม่มีคอมพิวเตอร์ และร้อยละ 28 ไม่มีบรอดแบนด์ โดยหน่วยงานด้านการศึกษาของฮ่องกงก็ระบุว่า หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลพยายามจัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการซื้อคอมพิวเตอร์ ขณะที่โรงเรียนต่างๆ สามารถให้ยืมแล็ปท็อปได้
อย่างไรก็ตาม 'ฟิลลิส เฉิง' ผู้อำนวยการบริหารของ Hong Kong Unison กลุ่มทำงานเพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในฮ่องกงบอกว่า เงินไม่ใช่เพียงปัญหาเดียว เพราะจากการพูดคุยกับครอบครัวชนกลุ่มน้อยในฮ่องกง 30 ครอบครัว พบว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถช่วยสอนการบ้านลูกได้เพราะมีกำแพงภาษาเป็นอุปสรรค นอกจากนี้ ก็ยังมีพ่อแม่ที่ไม่สามารถอยู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเรื่องการเรียนของลูกได้ เช่นคนที่ทำอาชีพรักษาความปลอดภัยหรือพนักงานกวาดถนนเป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ชี้ว่าจนถึงวันที่ 19 มี.ค. มี 114 ประเทศที่มีการสั่งปิดโรงเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับนักเรียนกว่า 890 ล้านคนทั่วโลก