ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกเสนอข่าววันสตรีสากลระบุ 'เตกีล่า' เป็นเหล้าดังที่กำเนิดขึ้นได้เพราะผู้หญิง พร้อมย้ำ เตกีล่าเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเม็กซิโก ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความเรื่อง If not for women, there'd be no tequila บอกเล่าถึงความสำคัญของ 'เตกีล่า' ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนในรัฐฮาลิสโกของเม็กซิโก โดยระบุว่า แรงงานหญิงชาวเม็กซิกันในเมืองเตกีล่า รัฐฮาลิสโก เป็นผู้คิดค้นเหล้ากลั่น 'เตกีล่า' นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา และเหล้าดังกล่าวมีเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปัจจุบัน

ข้อมูลของซีเอ็นเอ็นระบุว่าชื่อเสียงของเหล้าเตกีล่าซึ่งถูกกล่าวถึงในศิลปะภาพยนตร์และเพลงในโลกตะวันตก ช่วยกระตุ้นให้เมืองเตกีล่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเหล้าชื่อดัง เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟด่วนพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว Jose Cuervo Express เมื่อปี 2012 ได้รับการสนับสนุนจาก Jose Cuervo แบรนด์เหล้าเตกีล่าเก่าแก่ของตระกูลมหาเศรษฐีเม็กซิกัน ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวและภาคงานบริการที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วย

เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว โลนลี่แพลนเน็ตรายงานว่า รถไฟสาย 'โฮเซ่ กูเอร์โบ เอ็กซ์เพรส' เริ่มเดินทางออกจากเมืองกวาดาลาฮารา เมืองเอกของรัฐฮาลิสโก ไปสิ้นสุดที่เมืองเตกีล่า รวมเป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร โดยค่าตั๋วโดยสารอยู่ที่คนละ 130 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,290 บาท) และมีจุดขายสำคัญตรงที่ผู้โดยสารจะดื่มเหล้าเตกีล่าหรือเครื่องดื่มและอาหารอื่นๆ ได้ไม่จำกัด ตลอดระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมงที่อยู่บนรถไฟ

unsplash-jose cuervo-tequila-เตกีล่า-เตกิล่า-เหล้าขาว-มะนาว-เลมอน-โฮเซ่ กูเอร์โบ.jpg
  • แบรนด์เหล้าเตกีล่าชื่อดัง Jose Cuervo เป็นผู้สนับสนุนเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวไปยังเมืองเตกีล่า

ปัจจุบัน เมืองเตกีล่าได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เตกีล่า เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นบลูอากาเป วัตถุดิบที่สำคัญในการกลั่นเหล้าเตกีล่า ทั้งยังมีการส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในย่านเก่าแก่ ช่วยให้ประชากรในเมืองมีโอกาสทางการงานเพิ่มขึ้น

กลุ่มผู้หญิงในเมืองเตกีล่ายังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมูลนิธิเอกชนให้พัฒนาทักษะในการสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากวัตถุดิบที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตเหล้าเตกีล่า เช่น กระดาษจากต้นอากาเป รวมถึงการนำขวดเตกีลามาทำเป็นงานศิลปะรูปแบบต่างๆ เพื่อจำหน่ายเป็นที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว

unsplash-agave-ต้นอากาเป-อากาเว่-อะกาเว-เม็กซิโก-เหล้าเตกีล่า
  • พื้นที่ปลูกอากาเปในเม็กซิโกไม่ได้จำกัดที่เมืองเตกีล่า แต่ยังขยายไปยังเมืองอื่นๆ ของรัฐฮาลิสโกด้วย

จากเมืองเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีโรงแรมที่พักหรือร้านค้าให้บริการเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเมืองเตกีล่าถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การลงทุนในภาคบริการและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญของเม็กซิโก ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่า การส่งเสริมให้ชาวเม็กซิกันมีงานทำภายในชุมชนบ้านเกิด ก็จะยิ่งช่วยลดจำนวนแรงงานที่ต้องเดินทางไปทำงานในสหรัฐอเมริกา แต่ขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเม็กซิกันได้โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานในต่างแดน

ทั้งนี้ โฮเซ่ กูเอร์โบ เป็นแบรนด์เตกีล่าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.1 ทำให้ตระกูลของฮวน ฟรานซิสโก-เบ็กแมน วีดัล ซึ่งเป็นทายาทรุ่นหลังๆ ของผู้ก่อตั้งโรงกลั่นและผลิตเตกีล่า โฮเซ่ กูเอร์โบ ของเม็กซิโกตั้งแต่ราว 223 ปีที่แล้ว มีทรัพย์สินติดอันดับ 452 ของกลุ่มมหาเศรษฐีทั่วโลกที่รวบรวมข้อมูลโดยนิตยสารฟอร์บส์ในปีนี้ โดยมีทรัพย์สินรวมประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) 

ภาพ: Patrick Untersee และ Fidel Fernando และ David Garcia Sandoval by Unspalsh

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: