ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยชี้สมองของวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาแก่เร็วกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังเผชิญวิกฤตโควิด 1 ปี

สำนักข่าว CNN รายงานว่ากลุ่มวัยรุ่นที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในครั้งนี้ เผชิญกับปัญหาคล้ายๆ กันคือมีอาการที่รุนแรงเกี่ยวกับความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และปัญหาภายในที่เกิดขึ้นในจิตใจ โดยทีมวิจัยชีว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเศร้า การสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง ความกลัว และปัญหารุมเร้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2563 หรือปีแรกของโควิด 

ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในขณะนั้นคือการที่เด็กและเยาวชนต้องรอคอยอย่างยาวนาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างมากในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขเพื่อรักษาปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งปัญหานี้เองทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตโดยไม่มีการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในช่วงของการเกิดโรคระบาดใหญ่ 

เด็กจำนวนมากถูกบังคับให้อยู่ที่บ้านไม่สามารถไปโรงเรียนได้ พวกเขาต้องถูกตัดขาดจากเพื่อน กิจกรรมทางสังคม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่คอยสนับสนุนและเอื้ออำนวยการใช้ชีวิตและการเติบโตที่เด็กและเยาวชนทุกคนคุ้นชิน 

ขณะเดียวกันความหวัดกลัวและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด การที่พ่อแม่ของหลายครอบครัวต้องตกงาน และการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพราะการป่วยจากโรคทำให้สุขภาพจิตของเด็กนับล้านยำแย่ลงอย่างมาก 

งานวิจัยที่มีการเผยแพร่ลงในวารสาร Biological Psychiatry: Global Open Science พบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองเด็กวัยรุ่นในสหรัฐฯ เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบว่าเพศสภาพมีผลต่อภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอย่างไรบ้าง จึงมีการทำการศึกษาในเด็กวัย 9-13 ปีจำนวน 220 คนเมื่อ 8 ปีที่แล้วด้วยการสแกนสมองแบบ MRI ทุกๆ 2 ปี

อย่างไรก็ตามการศึกษาต้องหยุดชะงักไปในปี 2563 เมื่อเกิดโควิดขึ้น การศึกษาได้กลับมาดำเนินการต่ออีกครั้งหลังปี 2563 ซึ่งทำให้นักวิจัยได้เห็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนอย่างมาก นักวิจัยทำการเปรียบเทียบผลสแกนสมองของเด็ก 128 คน พบว่า "เด็กที่ได้ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลา 1 ปีแรกของวิกฤตโควิด-19 สมองมีการแก่ตัวลงมากกว่าอายุของสมองที่ควรจะเป็น"

วิจัยระบุว่า สมองที่ต้องก้าวผ่านช่วง 1 ปีแรกของวิกฤตโควิดมีการเติบโตขึ้นมากในส่วนที่ทำหน้าที่จัดการความกลัวและความเครียดซึ่งเรียกว่าส่วน 'อามิกดาลา' และส่วน 'ฮิปโปแคมปัส' ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเข้าถึงความทรงจำของสมอง ขณะที่เนื้อเยื่อของ 'คอร์เทกซ์' ซึ่งควบคุมความสามารถในการบริหาร ควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม มีความบางลงอย่างชัดเจน

งานวิจัยยังชี้ด้วยว่า สมองของเด็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามธรรมชาติและตามกาลเวลา แต่สิ่งที่งานวิจัยได้ค้นพบก็คือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพนี้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อคนๆ หนึ่งต้องก้าวผ่านความทุกข์และความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงในช่วงวัยเด็ก