วันที่ 14 ส.ค. 2566 อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 ว่า เศรษฐกิจแย่ บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตมาตลอด 8-9 ปี ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า
"รัฐบาลรักษาการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจำเป็นอะไรถึงต้องไปเพิ่มเงื่อนไขในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกปฏิบัติ เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล เป็นการสร้างเงื่อนไขและเลือกปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง" อนุสรณ์กล่าว
อนุสรณ์กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ แต่ไม่รักษาอาการ เหมือนการวางยาทิ้งทวน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ผิดปกติวิสัยที่รัฐบาลรักษาการไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง รัฐบาลรักษาการควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการจะถูกต้องเหมาะสมกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยาหรือไม่ อย่าผูกขาดทวงบุญคุณกับประชาชนว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ นี่คือหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนว่าทำไม 10 เดือนถึงไม่รอ เพราะหากเวลาที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาช้าไปเท่าไหร่ ก็เท่ากับเป็นการเติมโปรโมชั่นพิเศษให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานขึ้นไปเรื่อยๆ
“ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะรีบเข้ามาทำงานและผลักดันนโยบายที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ค่าไฟ-น้ำมัน ลดทันที พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก ฯลฯ” อนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้แต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน (อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ