ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงยุติธรรม เตือน ประชาชน ครอบครอง 'ไซยาไนด์' โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางกรุง 6 ชาวต่างชาติเสียชีวิต มีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุ 

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้ (18 ก.ค.2567) ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ขอเตือนประชาชนว่า สารไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 “ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

20230621101111_10160.jpg

สารไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง สามารถออกฤทธิ์ให้ผู้ที่ได้รับเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาทีขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของสารที่ร่างกายได้รับ สารไซยาไนด์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำปฏิกิริยายับยั้งเซลล์ในร่างกายไม่ให้สามารถใช้ออกซิเจนได้ ส่งผลให้เซลล์ไม่สามารถผลิตสาร ATP ที่ให้พลังงานได้เพียงพอและเสียชีวิตในที่สุด 

สารไซยาไนด์หาได้ง่ายและสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน และสารไซยาไนด์ยังมีอยู่ในผัก ผลไม้ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี พืช มะม่วง เมล็ดแอปเปิล แอปริคอต พีช ลูกแพร และถั่วอัลมอนด์รสขม ไซยาไนด์ยังสามารถพบได้ในหัวและใบของมันสำปะหลังและหน่อไม้ เราจึงไม่ควรรับประทานเมล็ดของผลไม้ประเภทนี้ รวมถึงมันสำปะหลังหรือหน่อไม้ดิบโดยเด็ดขาด และควรที่จะกำจัดไซยาไนด์ด้วยวิธีการง่าย ๆ อย่างการต้มและการปรุงสุก นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังเป็นสารที่สามารถพบได้ในบุหรี่ งานวิจัยพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วระดับของไซยาไนด์ในเลือดของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นมีค่าสูงกว่าคนไม่สูบถึง 2.5 เท่า 

ในอุตสาหกรรม ไซยาไนด์ใช้ในการผลิตไนล่อน และพบมากที่สุดในยาฆ่าแมลง และยังเป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ เหมืองเงิน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สามารถพบได้หลายรูปแบบ ได้แก่

1. เกลือของไซยาไนด์ ได้แก่ โซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide) และโพแทสเชียมโชยาไนด์ (potassium cyanide) ซึ่งเป็นของเข็ง มีลักษณะเป็นผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ (bitter almond-likeodor)

2. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) มีลักษณะเป็นของเหลวใสหรือสีน้ำเงินจางๆ ที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิสูงจะเป็นก๊าซไม่มีสี

169457432299606.jpg

สารไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนผิวหนัง การสูดดมเข้าสู่ทางเดินหายใจ และการรับประทาน ความผิดปกติทางร่างกายเมื่อได้รับสารพิษไซยาไนด์เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ผื่นแดง บวมน้ำ รู้สึกมึนงง เวียนศีรษะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ ลมชัก หมดสติ อาเจียน ไตล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 10 นาที  

แต่หากได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้กดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจเกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

 วิธีการป้องกันตนเองจากพิษไซยาไนด์

- หลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดของผลไม้ เช่น เมล็ดแอปเปิล แอปริคอต พีช ลูกแพร และถั่วอัลมอนด์รสขม

- หากรับประทานมันสำปะหลัง หรือหน่อไม้ ควรปรุงให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน

- กรณีเกิดเพลิงไหม้ ให้ก้มต่ำ ใช้ผ้าปิดจมูก และคลานเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟที่มีส่วนผสมของสารพิษไซยาไนด์

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสัมผัสกับสารไซยาไนด์ ควรรีบลดปริมาณสารให้ได้มากที่สุด ดังนี้

- หากไซยาไนด์สัมผัสกับผิวหรือเสื้อผ้า ให้ใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว อย่าให้ถูกผิวส่วนอื่น โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนัง แล้วล้างทำความสะอาดผิวด้วยน้ำและสบู่ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

- หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที และรีบนำส่งโรงพยาบาล

- หากมีการสูดดมและรับประทาน ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลแต่ “ห้ามใช้วิธีเป่าปาก”เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ