ไม่พบผลการค้นหา
ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย หารือกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือและกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้หารือกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยมีนายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือและกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยในการหารือในครั้งนี้ ดร.นลินี ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และความพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของ OECD ซึ่งที่ผ่านมา

ทุกภาคส่วนของไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนให้กระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับและขยายความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ ด้านการค้า การลงทุน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการ OECD ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในกระบวนการดังกล่าวอย่างแข็งขันมาโดยตลอด 

ด้านเลขาธิการ OECD ได้แสดงความยินดียิ่งที่ประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและคำแนะนำแก่ประเทศไทยอย่างเต็มที่ทั้งในเชิงนโยบาย ข้อมูลด้านเทคนิค และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น รวมทั้งเชื่อว่าการเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

ดร. นลินี ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยพร้อมทำงานร่วมกับ OECD อย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้เติบโตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยฝ่ายไทยโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเร่งเดินหน้าเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ OECD ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มขึ้น ตลอดจนดำเนินการทางด้านนโยบาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับตราสารทางกฎหมายของ OECD และมาตรฐานสากลต่อไป