ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลง เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในปี 2564 ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา
เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2565 Rocket Media Lab ชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตและกลไกส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า คนในโลกนี้ทุก 8 คนจะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่อัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นไปอีกสำหรับคนวัยหนุ่มสาวช่วง 15-29 ปี ที่ทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีถึง 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ในภาพรวม ในทุก 1 การเสียชีวิตที่มาจากการฆ่าตัวตาย จะมีการพยายามฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง
ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับการรับมือ แม้หลายประเทศจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านทรัพยากรสาธารณสุข
ข้อมูลจาก Mental Health ATLAS 2020 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศอยู่ที่ 13 คนต่อแสนประชากร โดยที่แต่ละภูมิภาคมีช่องว่างห่างกันมาก ตัวอย่างเช่น ค่ามัธยฐานของทวีปยุโรปสูงกว่าของทวีปแอฟริกา 40 เท่า ความแตกต่างนี้ยิ่งเห็นได้ชัดระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำ โดยประเทศรายได้ต่ำมีบุคลากรด้านสุขภาพจิต 1.4 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศรายได้สูงมี 62 คนต่อแสนประชากร
หากพิจารณาเฉพาะจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 156 ประเทศ พบว่าค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 1.7 ส่วนของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 1.4 กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมีตัวเลขนี้สูงกว่าประเทศรายได้ต่ำ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 0.4 และของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 0.3
ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างอัตราส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 11 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ที่ปี 2563 ประเทศในยุโรปตะวันตก นำโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุด ที่ 47.17 คนต่อแสนประชกร ในเอเชีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 12.55 และ 7.91 ตามลำดับ
ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลกคือ 4.7 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศไทย รายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อแสนประชากร
สำหรับอัตราส่วนนักจิตวิทยา ออสเตรเลียจัดอยู่ในกลุ่มที่มีนักจิตวิทยาต่อประชากรมากเป็นลำดับต้นๆ คือ 122.91 คนต่อแสนประชากร สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลกเกือบ 100 เท่า ส่วนสวีเดนมีนักจิตวิทยา 84.88 คนต่อแสนประชากร ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มี 56.37 คนต่อแสนประชากร ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์และไทยที่มีนักจิตวิทยาต่อประชากรคนมากกว่าค่ามัธยฐานโลก โดยสิงคโปร์มีมากกว่าไทยเกือบ 9 เท่า กล่าวคือไทยมี 1.57 คนต่อแสนประชากร ขณะที่สิงคโปร์มี 9.7 คนต่อแสนประชากร ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิต ในปี 2565 ระบุว่า มีนักจิตวิทยา 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร
ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นทุกปี ในรายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1.3 ล้านคนเป็น 2.3 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ในรายงานการสูญเสียสุขภาวะปี 2556 ระบุว่า คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life years; DALYs) ซึ่งเป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย เท่ากับ 10.6 ล้านปี โดยชายไทยสูญเสียปีสุขภาวะไปกับโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากที่สุด ในขณะที่หญิงไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 21 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด สาเหตุสามอันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะในผู้ชาย เกิดจากภาวะการติดสุราหรือการดื่มแบบเป็นอันตราย โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท ส่วนในผู้หญิงเกิดจากโรคซึมเศร้า โรคความจำเสื่อม และโรคจิตเภท
สาเหตุนี้สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชรายโรคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ซึ่งรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวชจำแนกรายโรค ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม พบว่า ระหว่างปี 2558-2559 มีผู้ป่วยจิตเภท วิตกกังวล และซึมเศร้ามากเป็น 3 อันดับแรก ต่อมาในปี 2560 นอกจาก 3 โรคนี้แล้ว ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ติดแอลกอฮอล์ ติดสารเสพติดอื่นๆ สมาธิสั้น และโรคจิตเวชอื่นๆ
ตั้งแต่ปี 2560 โรคจิตเวชอื่นๆ ซึ่งรวมอาการและโรค 39 รายการตามบัญชีจําแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems) เข้าไว้ด้วยกัน มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด (ตัวอย่างของอาการที่ถูกนับรวมในกลุ่มนี้ เช่น ความผิดปกติทางจิตและอาการทางจิตที่เกิดจากโรคทางกาย ความผิดปกติทางบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ความผิดปกติของพัฒนาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมที่มักเริ่มต้นในวัยเด็กและวัยรุ่น) ในปี 2562 เริ่มมีรายงานการติดยาบ้า (Amphetamine) โรคอารมณ์สองขั้ว และผู้ป่วยติดเกมในผู้ใหญ่ (15 ปีขึ้นไป) จนถึงปี 2564 โรคทางจิตเวชที่มีสัดส่วนมากเป็น 5 อันดับแรกได้แก่ จิตเภท วิตกกังวล ซึมเศร้า ติดสารเสพติดอื่นๆ และติดแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามสิทธิการรักษา จากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2556-2564 อันได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิของผู้ป่วยต่างด้าว และสิทธิอื่นๆ พบว่า จำนวนผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจาก 80,440 คนในปี 2556 เพิ่มเป็น 1,056,604 คนในปี 2559
ตัวเลขผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มโรคเพิ่มขึ้น 3 เท่าระหว่างปี 2559 กับ 2560 จาก 1,056,604 คนในปี 2559 เป็น 3,491,365 คนในปี 2560 และหากดูโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 78,592 คนในปี 2559 เป็น 259,467 คนในปี 2560
สำหรับสัดส่วนของโรค นอกจากโรคจิตเภท ความผิดปกติที่สัมพันธ์กับความเครียด และโรคโซมาโตฟอร์ม/วิตกกังวล กลุ่มอาการทางพฤติกรรมที่พบร่วมกับความผิดปกติทางสรีรวิทยาและปัจจัยทางกายภาพ ผู้ป่วยที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (เพิ่มขึ้นจาก 88,753 คน เป็น 436,012 คน) เสพสุรา และสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ในปี 2564 โรคจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมี 622,172 คน จากผู้ป่วยโรคจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลมากขึ้น อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจังด้วย
สำหรับสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนโดยทั่วไป ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชให้ความเห็นเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่า เดิมทีอัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาตกงาน ขาดรายได้จนอาจทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หนึ่งในช่องทางบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2565 มีผู้รับบริการที่มีพฤติกรรมหรือมีความคิดฆ่าตัวตายถึง 1,554 ราย ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีผู้รับบริการที่คิดฆ่าตัวตาย 141 รายต่อเดือน
เมื่อพิจารณารายงาน 10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดระหว่างปี 2559-2563 น่าสนใจว่า มี 2 จังหวัดที่ติด 10 อันดับแรกทุกปีคือ เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยแม่ฮ่องสอนติดอันดับที่ 1 มากถึง 3 ปี จากทั้งหมด 5 ปี จังหวัดติดอันดับถี่รองลงมา คือ เชียงราย แพร่ ตาก น่าน และลำปาง ติด 10 อันดับแรกถึง 4 ปี
สำหรับปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่ข้อมูล จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด อับดับที่ 1 คือ แม่ฮ่องสอน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 17.44 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 2 คือ ตาก 15.46 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 3 คือ เชียงใหม่ 14.61 รายต่อแสนประชากร จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 จังหวัดนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าภาพรวมทั้งประเทศที่อัตรา 7.37 รายต่อแสนประชากร ประมาณ 2 เท่า
เมื่อสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก อยู่ระหว่าง 9,178.8-11,500.7 คนต่อแสนประชากร มากกว่านครปฐมที่มีอัตราส่วนน้อยที่สุดเกือบ 4 เท่า ที่ 2,719.5 ต่อแสนประชากร ตามมาด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี กระบี่ และปัตตานี
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ให้สัมภาษณ์อธิบายประเด็นนี้ว่า มีงานศึกษาในพื้นที่หลายชิ้น ส่วนใหญ่สรุปว่า พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะส่วนที่คาบเกี่ยวกันภาคเหนือและภาคอีสาน สมาชิกในครอบครัวออกไปทำงานนอกพื้นที่ และมีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมาก ด้วยวัฒนธรรมและบ้านที่อยู่ห่างกัน ทำให้คนในชุมชนไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันมากนัก ต่างจากในภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ที่ปลูกบ้านใกล้กัน มีกิจกรรมทำร่วมกันบ่อย จึงทำให้ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น
Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจำนวนจิตแพทย์จากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564
ซึ่งสรุปจำนวนทรัพยากรสุขภาพ จำนวนแพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นรายจังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน โดยเมื่อคำนวณอัตราส่วนเฉลี่ยจิตแพทย์เท่ากับ 1.30 ต่อแสนประชากร
การเข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชแตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบจำนวนจิตแพทย์รายจังหวัด จากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 พบว่า จากจำนวนจิตแพทย์ทั่วประเทศทั้งหมด 860 คน ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเข้าถึงทรัพยากรสาธารณสุขได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยมีจิตแพทย์ 4.90 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ข้อมูลในปี 2564 จังหวัดยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย (ปัจจุบัน ปี 2565 จากการสอบถาม มีจิตแพทย์แล้ว 2 คน) รองลงมาคือ นครนายก เชียงใหม่ นนทบุรี และปทุมธานี ที่น่าสนใจคือ มีเพียง 14 จังหวัดเท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรสูงค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
สำหรับนักจิตวิทยา หนึ่งในกลไกสำคัญต่อการรับมือกับผู้ป่วยจิตเวชไม่แพ้จิตแพทย์ จากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลจำนวนนักจิตวิทยาสังกัด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รายจังหวัด พบว่า รวมทั้งประเทศมีนักจิตวิทยา 729 คน เท่ากับ 1.10 คนต่อแสนประชากร และมี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย ได้แก่ ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง น่าสนใจว่า ปัตตานีซึ่งมีจิตแพทย์ต่อแสนประชากรที่ 0.54 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ กลับมีนักจิตวิทยาต่อแสนประชากรมากที่สุด คือ 3.83 คน ขณะที่กรุงเทพฯ มีมากเป็นอันดับที่ 2 ที่ 3.40 คนต่อแสนประชากร และมีเพียง 28 จังหวัดเท่านั้นที่มีอัตราส่วนนักจิตวิทยาต่อประชากรสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
เมื่อพิจารณาเฉพาะโรคซึมเศร้า ตัวเลขการประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเทียบกับตัวเลขคาดประมาณผู้ป่วยในพื้นที่อยู่ที่ 88.33
ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2556 ผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 4,295 คน เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 9,522 คนในปี 2557 หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 78,592 คนในปี 2559 ก่อนที่จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปีเดียว ระหว่างปี 2559 กับ 2560 เพิ่มจาก 78,592 คน เป็น 259,467 คน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้อาจจะมาจากนโยบายเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข
โรคซึมเศร้าได้รับความสนใจอย่างจริงจังในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายบูรณาการการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการรักษาโรคซึมเศร้า โดยใช้ระบบบริการปฐมภูมิคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า และการประเมินความรุนแรงของโรคด้วยแบบประเมิน 2 คำถามและ 9 คำถาม มีการวิเคราะห์ว่านโยบายนี้ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 5.1 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 48.5 ในปี 2559 โดยในปี 2549 ที่ยังไม่มีการดำเนินการตามระบบนี้อัตราการเข้าถึงบริการอยู่ที่ร้อยละ 3.7
ในปี 2564 หากเปรียบเทียบรายจังหวัดจากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เชียงใหม่ 22,493 คน นครราชสีมา 19,158 คนกรุงเทพมหานคร 15,676 คน อุบลราชธานี 12,752 คน และขอนแก่น 10,684 คน จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 715 คน
โดยจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรมากที่สุดคือ ลำพูน 1,754.50 คน รองลงมาคือ สิงห์บุรี 1,366.57 คน เชียงใหม่ 1,257.02 คน แม่ฮ่องสอน 1,124.80 คน อุตรดิตถ์ 1,004.82 คน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรน้อยที่สุดคือ นครปฐม 236.72 คน รองลงมาคือ อุดรธานี 240.91 คน ปัตตานี 270.56 คน กรุงเทพมหานคร 283.57 คน และสมุทรปราการ 290.16 คน
นอกจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วย ทำให้ตัวเลขอาจไม่สะท้อนกับความเป็นจริง นพ.วรตม์กล่าวว่า อาจระบุตัวเลขที่แท้จริงสำหรับสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยได้ยาก เนื่องจากต้องทำแบบสำรวจระดับชาติ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งใช้งบประมาณหลักร้อยล้านบาท เป็นคำถามพ่วงไปกับโรคอื่นด้วย ตัวเลขมาตรฐานจึงออกมาทุก 4-5 ปี แต่ประเมินว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น และเมื่อดูจากงานวิจัยย่อยๆ ก็พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยทางจิตเวชสูงขึ้นจริง รวมถึงโรคซึมเศร้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวชด้วย
ทั้งนี้ นพ.วรตม์อธิบายว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นมีตัวเลขแฝง 2 อย่าง หนึ่ง เพราะมีผู้ป่วยสูงจริงจากความเครียดและอาการเจ็บป่วยมากขึ้น หรือ สอง เพราะเข้ารับบริการและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น เช่น หลังจากโควิด-19 มีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากขึ้น คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ก็จะมาโผล่ตอนนี้ เพราะเพิ่งเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างไรก็ตาม แม้จะประเมินว่าตัวเลขสูงขึ้นทั้งสองทาง แต่ตอบไม่ได้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด
แม้จะปรากฏว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมาคือนครราชสีมาและกรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบเทียบกับจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จะเห็นได้ว่า ในจังหวัดเหล่านี้ ภาระในการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรสาธารณสุขยังถือว่าไม่หนักที่สุด
ในระดับภาค จะพบว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชต่อประชากรสูงสุดอยู่ที่ 8.84% รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แม้มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงที่สุดถึง 1,495,210 คน แต่คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรของภาคเพียง 6.85% ตามมาด้วยภาคใต้ที่ 5.83% แต่ในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงสุดและยังคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรสูงสุดอีกด้วย อยู่ที่ 0.52% รองลงมาคือภาคตะวันตก 0.5% และภาคใต้ที่ 0.5% ใกล้เคียงกัน
เมื่อพิจารณาภาระความรับผิดชอบของบุคลากรสาธารณสุขต่อจำนวนผู้ป่วยในระดับภาค จะพบว่า จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 10,994 คนเลยทีเดียว รองลงมาก็คือภาคตะวันตก ที่อัตราส่วน 1 : 6,540 คน และภาคใต้ 1 : 6,291 คน ในส่วนของภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 คน และภาคตะวันตก 1 : 639 คน
เมื่อพิจารณาจำนวนนักจิตวิทยา พบว่า นักจิตวิทยาในภาคเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยนักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 9,974 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 9,646 และภาคตะวันตก 1 : 6,291 สำหรับภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 และภาคตะวันตก 1 : 639
หากดูระดับจังหวัดจะพบว่า จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาล จากการสอบถามแหล่งข่าวด้านสาธารณสุขในพื้นที่พบว่า ในช่วงที่ยังไม่มีจิตแพทย์มาประจำที่โรงพยาบาลในจังหวัด ยโสธรใช้แพทย์จากพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวช ปัจจุบัน ในปี 2565 ยโสธรมีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแล้ว 2 คน หรือเท่ากับจิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช 18,643.5 คน รองลงมาก็คือจังหวัดศรีสะเกษที่จิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 34,811 คน ตามมาด้วยจังหวัดมุกดาหาร ที่อัตราส่วน 1 : 27,997 สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จิตแพทย์ 1 คน มีภาระในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,216 คน รองลงมาคือมุกดาหาร ที่อัตราส่วน 1 : 2,640 และศรีสะเกษ ที่อัตราส่วน 1 : 2,566
ภาระการดูแลผู้ป่วยของนักจิตวิทยานั้น จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุหรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง เป็นจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย รองลงมาคือจังหวัดเลย ซึ่งนักจิตวิทยา 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 52,717 คน ตามมาด้วยกำแพงเพชร ที่อัตราส่วน 1 : 46,296 และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังพบว่าจังหวัดเลย นักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,937 คน รองลงมาคือพระนครศรีอยุธยา ที่อัตราส่วน 1 : 3,708
จะเห็นได้ว่าในภาพรวมนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องทำงานหนักในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผ้ป่วยโรคซึมเศร้า อันเป็นผลมาจากทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย และที่สำคัญก็คือจำนวนบุคลากรสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ยังคงขาดแคลนจิตแพทย์ การกระจายแพทย์เฉพาะทางไปยังพื้นที่ต่างๆ คำนวณจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น สาธารณสุขจังหวัดจะต้องตัดสินใจว่า จะเลือกแพทย์เฉพาะทางสาขาใด เหตุใดจึงไม่เลือกอีกสาขาหนึ่งที่อาจจะเป็นที่ต้องการไม่ต่างกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน
ขณะเดียวกัน นพ.วรตม์อธิบายว่า เหตุที่จิตแพทย์ขาดแคลนมาจากกระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยากและใช้เวลานาน ต้องรอจนกว่าแพทย์เรียนจบหลักสูตร 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี จึงจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี โดยผู้ที่ต้องการเป็นจิตแพทย์ต้องหาทุนมาเรียนเอง หรือมีต้นสังกัดออกทุนให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือหน่วยงานเหล่านี้เปิดรับ เช่น ตำแหน่งว่าง มีคนลาออก หรือเปิดหน่วยบริการใหม่ เมื่อได้รับคำยืนยันแล้ว แพทย์จึงจะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์ได้ เมื่อเรียนจบก็ต้องกลับไปทำงานที่ต้นสังกัด
อีกทางหนึ่ง บางโรงเรียนแพทย์อาจจะมีทุนให้ ซึ่งไม่มาก และแต่ละมหาวิทยาลัยต้องออกทุนฝึกอบรมเอง ซึ่งผู้ที่เรียนจบแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ อีกเส้นทางหนึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีทุนให้ปีละ 4-5 ทุน แพทย์จะมาสมัครเอง หากได้ทุนก็ต้องไปสมัครที่โรงเรียนแพทย์อีกขั้นหนึ่ง เมื่อเรียนจบ กรมสุขภาพจิตจึงจะกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดที่ขาดแคลนจิตแพทย์
นอกจากระยะเวลาในการเรียนแล้ว นพ.วรตม์มองว่า ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งมาจากการขาดแคลนอาจารย์ สำหรับจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ด้วยอัตราแบบนี้ทำให้เพิ่มจำนวนได้ช้า เพราะคนที่อยู่ในระบบมีน้อย ไม่เหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ผลิตได้เยอะกว่า เช่น ศัลยศาสตร์ สถาบันหนึ่งผลิตได้ปีละ 30 คน ส่วนหนึ่งมาจากการที่สาขานี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนหน้านี้ เพิ่งจะได้รับความสนใจในช่วง 4-5 ปีนี้เอง การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์จึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
แต่นับว่าโชคดีที่สาขาจิตเวชมีวิชาชีพอื่นทำงานอยู่ขนานไปด้วย มีสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกัน ทั้งนักจิตวิทยาคลินิกและพยาบาลจิตเวช แต่ปัจจุบันนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งทำงานในโรงพยาบาลโดยตรง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำหน้าที่ได้เกือบเท่าจิตแพทย์ยกเว้นสั่งยา ก็กำลังประสบปัญหาไม่เพียงพอเช่นกัน มีสถาบันที่เปิดสอนน้อยลง ส่วนนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา ที่มีการเรียนการสอนในหลายสถาบัน อาจไม่ได้ทำงานกับคนไข้โดยตรง
ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตและสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา อยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐานการให้บริการการให้คำปรึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การรับรองวิชาชีพทางกฎหมาย แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะต้องฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และมีหลายขั้นตอน นพ.วรตม์กล่าวว่า เพราะเห็นว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถผลิตจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกได้ทัน และกำลังต้องการนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเพื่อเติมเต็มทุกส่วน แต่ก็จะใช้เวลานานพอสมควรในการสร้างกฎระเบียบใหม่
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า นอกจากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในสังคมไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือความขาดแคลนการเข้าถึงการดูแลรักษาและการรองรับการดูแลรักษา เนื่องจากจำนวนบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในไทยนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาหรือได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ
ในภาพย่อย เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ระหว่างจังหวัดที่มีมากที่สุด กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ จะพบว่าแตกต่างกันหลายเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข สิ่งนี้ยิ่งซ้ำเติมผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ที่มีทรัพยากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ และเป็นโจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ไม่เพียงต้องป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
* หมายเหตุ: ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่รายงานทรัพยากรสาธารณสุข 2565 ซึ่งจำแนกข้อมูลรายจังหวัด รายงานชิ้นนี้จึงอ้างอิงจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากรายงานฯ ปี 2564
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-psy-resource/