ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ สิงคโปร์ให้สัมภาษณ์บีบีซี เรียกร้องกองทัพเมียนมาปล่อยตัวซูจี ชี้มาตรการคว่ำบาตรกระทบประชาชนมากกว่ากองทัพ

2 มี.ค. ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ถึงประเด็นรัฐประหารในเมียนมา โดยเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดีซึ่งถูกทหารรัฐประหารยึดอำนาจไปเมื่อ 1 ก.พ. เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

นายกฯ ลี ให้สัมภาษณ์ว่า การจับกุมและตั้งข้อหาต่อนางซูจี และสมาชิกคนอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดี 'ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ' กองทัพควรปล่อยตัวทุกคน แล้วหันไปใช้การพูดคุยเจรจาและทำงานร่วมกัน เพื่อหาทางออกอย่างสันติให้เมียนมา

"การจับกุมตัวอองซาน ซูจี ด้วยข้อหาเพียงแค่ครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์คกี้ ทอล์คกี้ ไม่ได้แก้ปัญหา กองทัพเมียนมาได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตว่า การทำงานร่วมกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า ในขณะที่เส้นทางหลังรัฐประหารของกองทัพ เป็นถนนที่ไร้จุดหมายปลายทาง" นายกลี วิจารณ์การทำรัฐประหารว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศถอยหลังกลับไปยังปี 1988 ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง

"การยึดอำนาจของกองทัพอีกครั้งนั้น ทำให้ประเทศถดถอย และไร้อนาคต"

ขณะเดียวกัน นายกฯ สิงคโปร์ ยังมีมุมมองถึงการที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยว่า การที่กองทัพใช้กำลังและความรุนแรง รวมถึงใช้อาวุธอันตรายถึงชีวิตต่อพลเรือนผู้ไร้อาวุธนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นการกระทำที่ร้ายแรง แม้ว่ากองทัพพยายามสกัดกั้นอินเทอร์เน็ต แต่ไม่อาจหยุดยั้งข่าวที่แพร่สะพัดได้ ประชาชนเมียนมาล้วนทราบดีว่าใครอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา หากพวกเขาคิดว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับพวกเขาแล้ว ส่วนตัวผมคิดวา รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาที่ใหญ่มากๆ 

เมื่อผู้นำรัฐบาลสิงคโปร์ ถูกถามถึงท่าทีว่าทำไมรัฐบาลไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหาร นายกฯ ลี ตอบว่า "คนนอกมีอิทธิพลต่อเรื่องน้อยมาก คุณประณามพวกเขา ออกแถลงการณ์ตำหนิพวกเขา หรือขับไล่พวกเขา แต่สิ่งเหล่านี้แทบไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงในเมียนมา"

"แม้พวกเขา (นายพลพม่า) ไม่ค่อยพอใจนัก แต่มันก็แทบไม่ส่งผลใดๆ หรือมีอิทธิพลทำให้คณะรัฐประหารตัดสินใจทำอย่างที่ชาติมหาอำนาจ ยุโรป หรือ อาเซียนต้องการ" 

ลี เซียนลุง อธิบายถึงจุดยืนของสิงคโปร์ต่อรัฐประหารเมียนมาซึ่งแทบไม่ได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาเลย ว่า "มูลค่าการค้าเมียนมากับสิงคโปร์ ไม่ได้มากมายอะไรเลย หากคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประชาชนชาวเมียนมาต่างหากที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่นายพลในกองทัพ ดังนั้นสิ่งที่ทำคือ จะทำอย่างไรให้สถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น"

ที่มา: CNA , Straitstimes