นายจิรยุว์ ณ ระนอง ผู้บริหารร้าน Chu เปิดเผยว่า ผู้เช่าพื้นที่ภายใน Exchange Tower เดือนร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เจ้าของพื้นที่มีการส่งหนังสือเรียกเก็บค่าเช่าในเดือน เม.ย.เต็มจำนวน โดยให้จ่ายก่อน 80 เปอร์เซ็นต์ตามกำหนดเดิม ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ไปรอจ่ายช่วงปลายปี ซึ่งผู้เช่ามองว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากหลายรายต้องปิด รายได้เป็นศูนย์ ส่วนที่เปิดยอดขายหายไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ที่ผ่านมาเจ้าของพื้นที่ระบุว่าจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่มีเงื่อนไขคือให้พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจริงๆ โดยการต้องยื่นเอกสารย้อนหลัง ทั้งบัญชีแสดงรายได้ กำไร งบขาดทุน ภพ.30 หลักฐานการเสียภาษี รวมถึงรายการเดินบัญชีส่วนตัว ในขณะที่หลายบริษัทไม่ได้ยื่นภาษีแบบแยกสาขา แต่ยื่นรวมเป็นบริษัทเดียว และจากเดิมขอหลักฐานแค่ 4 เดือน แต่ขอใหม่เป็นย้อนหลังจนถึงต้นปี 2562 ซึ่งผู้เช่าที่ไม่ได้ยื่นเอกสาร หรือ ยื่นเอกสารไม่ครบ และไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนด คือ วันที่ 13 เม.ย.2563 ทางเจ้าของพื้นที่ได้ส่งหนังสือแจ้งวันที่ 30 เม.ย.และ 2 พ.ค.บอกจะตัดน้ำ ตัดไฟ หากไม่ชำระค่าเช่าภายในเดือนนี้ รวมถึงจะพิจารณายกเลิกสัญญาด้วย
“คือยื่นจดหมายมาว่าคุณไม่จ่ายค่าเช่า ทวงครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ทวงครั้งที่ 3 จะมีดอกเบี้ยนู่นนี่นั่นไป จนถึงวันที่ 2 ที่ผ่านมา วันเสาร์ที่ผ่านมาส่งจดหมายกับทุกคนว่า อันนี้คือคำเตือนสุดท้าย ถ้าคุณไม่ชำระภายในวันที่ 8 พ.ค. ภายใน 5 โมงจะตัดน้ำตัดไฟ และถ้าคุณไม่ชำระภายในวันที่ 13 อาจจะมีการยกเลิกสัญญา” นายจิรยุว์ กล่าว
นายจิรยุว์ ระบุว่า ร้าน Chu เช่าพื้นที่นี้มาจะครบ 10 ปีในเดือน มิ.ย.นี้ จ่ายค่าเช่าตรงเวลามาตลอด 10 ปี เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้เพราะว่าให้ความร่วมมือกับคำสั่งของรัฐบาลก็อยากให้ทุกคนผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ แต่ไม่สามารถอยู่รอดไปได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของพื้นที่
ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยหนังสือระหว่างผู้เช่าและเจ้าของพื้นที่ส่งดังนี้
ขณะที่นางสาวปวริศร พันธ์เจริญ ผู้จัดการร้าน Buya Salon กล่าวว่า ที่ผ่านมาร้านค้าใน Exchange Tower ได้มีการยื่นจดหมายต่อรองกับเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด แต่เจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีความชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ ดึงเวลาทำให้ผู้เช่ามีปัญหาในเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งการส่งเอกสารขู่ตัดน้ำตัดไฟ ถือว่ารุนแรงเกินไปสำหรับภาวะสถานการณ์แบบนี้
“ตอนนี้กลายเป็นว่า ไม่ได้รับผลตอบรับหรือฟีดแบคกลับมา ก็กลายเป็นว่าเราแบกรับต้นทุนทุกอย่าง เรียกว่าติดศูนย์เลยก็ว่าได้ ติดลบเลยก็ว่าได้ เพราะว่ารายจ่ายของเรายัง 100 เปอร์เซ็นต์คงเดิม อยากให้ทางตึกพิจารณาขอความเห็นใจ ช่วยเหลือผู้เช่า เพราะว่าต้องแจ้งก่อนว่าหลายๆ ร้านอยู่มา 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี ซึ่งร้านปอเข้าปีที่ 8 แล้ว นั่นแสดงว่าศักยภาพของปอเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีมาตลอด เป็นผู้เช่าที่ดีมาตลอด ก็เลยอยากจะให้ลองมองว่าส่วนไหนที่ช่วยเหลือเราได้อยากให้ช่วย” นางสาวปวริศร กล่าว
เจ้าของร้าน Buya Salon ระบุว่า การเรียกร้องข้างต้นไม่ได้หวังว่าเจ้าของพื้นที่จะมีการลดค่าเช่าให้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มองวิกฤตภาพรวม เชื่อว่าทุกคนที่มีปัญหา ทุกห้างร้าน ทุกภาคส่วนอย่างน้อยก็ต้องมีการช่วยเหลือกันบ้างไม่มากก็น้อย แต่ทางเจ้าของพื้นที่ไม่มีส่วนไหนเข้ามาเลยช่วยเหลือเลย อย่างน้อยๆ ลดค่าเช่า 10-30 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเป็นน้ำใจร่วมกันดีกว่านิ่งเฉยแล้วไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย
ด้านนายฐนกฤตย์ สุรกิจบวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แอ็บโซลูท ยู แมเนจเม้นท์ เอเชีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดต่อทางซีอีโอของตึกแต่ได้คำตอบว่า บริษัทขาดทุนไม่ได้ เนื่องจากมีต้องมีรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย แต่ส่วนตัวมองว่า โซนพลาซ่า มีสัดส่วนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อาคารทั้งหมด ดังนั้นในส่วนของรายได้ของอาคารแม้จะมีผลกระทบแต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับผลกระทบของผู้เช่า
โดยแอ็บโซลูท ยู ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 สาขาในประเทศไทย และ 3 สาขาในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดยกเว้นที่ สาขา Exchange Tower มีการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ เนื่องจากหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจฟิตเนสถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และถูกสั่งให้ปิดชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ ผลกระทบ คือ รายได้เป็นศูนย์ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่จะต้องดูแลในเรื่องของพนักงานต่างๆ ต้องพยายามดูแลพนักงานให้ยังคงที่เหมือนเดิม
“ธุรกิจเราผมไม่แน่ใจด้วยนะว่าการจัดกลุ่มสีต่างๆ ออกมาเราจะเป็นสีเหลือง หรือ สีแดง เราก็ยังมองว่าก้ำกึ่ง ถ้าเป็นสีแดงก็จะยาวไปถึงกลางเดือน มิ.ย.ทางอาคารก็เห็นอยู่แล้วว่าเราไม่สามารถเปิดดำเนินธุรกิจ ไม่เหมือนบางร้านที่อาจจะเปิดได้บางส่วน อันนั้นเมคเซนส์ว่าเปิดได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ลดค่าเช่า ลดค่าบริการ เป็นตามอัตราส่วนไปเท่านั้นเอง ทางผู้ให้เช่าควรจะเห็นใจผู้เช่า” นายฐนกฤตย์ กล่าว
ทางด้านทันตแพทย์อดิศร หาญวรวงศ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มอสเดนทอลคลินิก หนึ่งในผู้เช่าพื้นที่ Exchange Tower ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของพื้นที่ เป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจนหลายอย่าง ทำให้สิ่งที่จะต้องมาคุยและใช้วิจารณญาณเกิดการขัดแย้ง โดยเฉพาะในแง่ของร้านในประเด็นที่ว่าเปิดได้ หรือ เปิดไม่ได้ โดยส่วนตัวกังวลว่าอาจจะเกิดการเรียกรับผลประโยชน์ซ้ำเติมผู้เช่าอีก
“พอนโยบายของทางภาครัฐไม่ชัดเจน มันก็กลายเป็นว่าไม่รู้จะมีสแตนดาร์ดไหนที่จะเอามาจับ มันก็เป็นแค่สิ่งที่ตัวผู้เช่าเอง กับสิ่งที่ตึกคือจะคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราจะมาช่วยแชร์ความทุกข์ร้อนอะไรอย่างไร พอไม่มีนโยบายที่ชัดเจน มันก็ง่ายที่จะเกิด conflict เกิดขึ้น เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างร้านที่มีหลายๆ สาขาก็อาจจะมองว่าทำไมในศูนย์การค้านี้ เขาถึงให้ความช่วยเหลือเราแบบนี้ ทำไมในอีกพื้นที่ถึงความช่วยเหลือไม่เหมือนกัน” ทันตแพทย์อดิศร กล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์อดิศร ระบุว่า ผู้เช่า และเจ้าของพื้นที่ไม่มีใครผิด แต่เจ้าของพื้นที่ควรรับผิดชอบความเดือนร้อนของผู้เช่าด้วย ซึ่งสามารถแบ่งความช่วยเหลือตามผลกระทบได้ โดยในส่วนของ มอสเดนทอลคลินิก มี 20 สาขา อยู่ในแต่ละพื้นที่แต่ละอาคาร ซึ่งผลกระทบของธุรกิจแน่นอนคือตัวคลินิกเองทำงานได้ไม่เหมือนปกติอยู่แล้ว แต่บางพื้นที่ บางศูนย์การค้าก็ไม่ได้มีการคิดค่าเช่า หรือเรียกเก็บค่าเช่าเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น