ไม่พบผลการค้นหา
การระบาดของไข้หวัดนกในปี 2003 ได้สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจระดับโลก การระบาดดำเนินการอย่างน้อย 6 เดือน และคร่าชีวิตคนไปทั้งสิ้น 813 คน จากผู้ป่วยทั้งสิ้น 8437 คน และส่งผลลบต่อการเติบโตของ GDP ในจีน -1.05% ด้วยตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดโรคระดับนานาชาติ องค์กรอนามัยโลกจึงได้พัฒนา International Health Regulation (2005) ซึ่งเป็นกฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นกรอบปฏิบัติตามเพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ

นอกจากกฎระเบียบดังกล่าวแล้วองค์กรอนามัยโลกได้พัฒนาคู่มือต่างๆเพื่อแนะนำให้ประเทศสมาชิกรับมืออย่างไรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เช่น Pandemic Influenza Risk Management (2017) โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดตะวันออกกลาง

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา WHO Director-General นาย Tedos Adhanom ได้ประกาศยกระดับการระบาดของ Covid-19 เป็นระดับ Pandemic เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่น่าเป็นห่วงทั้งด้านตัวเลขผู้ติดเชื้อและด้านพื้นที่ที่ขยายตัวเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมีการยกระดับการแพร่ระบาดแล้ว รัฐต่างๆควรปฏิบัติอย่างไรตามคำแนะนำที่ปรากฏใน Pandemic Influenza Risk Management (2017)

Pandemic phase คืออะไร?

คู่มือ Pandemic Influenza Risk Management (2017) เป็นการนำเสนอวิธีการจัดการโรคระบาดในรูปแบบของการวางอยู่บนฐานความเสี่ยง (risk- based approach) การจัดโรคระบาดอยู่ใน Pandemic phase จึงเป็นการจัดที่ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค โดยแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาดังนี้

  1. Interpandemic phase หรือช่วงระยะเวลาระหว่างการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่รอบต่างๆ
  2. Alert phase หรือช่วงระยะเวลาที่มีการค้นพบการติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มระดับความระวัง เพิ่มการสอดส่องตรวจสอบ เพิ่มการระดับการจัดการและประเมินความเสี่ยงภายในประเทศ
  3. Pandemic phase หรือช่วงระยะเวลาที่การแพร่ระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ในระดับโลก ต้องมีการเพิ่มระดับระมัดระวัง และการสอดส่องตรวจสอบ การประเมินและจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลทางไวรัสวิทยา
  4. Transition phase หรือช่วงระยะเวลาที่ความเสี่ยงมีการลดระดับลงในโลก ในแต่ละรัฐเริ่มมีมาตรการต่างๆเพื่อฟื้นฟูเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ตามความเสี่ยงที่ประเมินได้

สิ่งที่ควรปฏิบัติในช่วง Pandemic phase

ในช่วง Alert phase ความเสี่ยงของการระบาดไม่สูงมากนัก คำแนะนำจึงเป็นเรื่องการเตรียมตัวรับมือ (preparedness) ได้แก่ การแบ่งปันข้อมูลการระบาด และชีวสารของไวรัสในระหว่างประเทศเพื่อ นำไปใช้ประโยชน์เช่น การประเมินความเสี่ยงการระบาดในประเทศอื่นๆ การทำวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงระดับ Pandemic phase การปฏิบัติของรัฐจึงมิใช่แค่เตรียมรับมืออีกต่อไป แต่ต้องมีความพร้อมในการตอบสนองการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต และสิ่งที่รัฐพึงปฏิบัติได้แก่

  1. สร้างความแน่นอนด้านจริยธรรมในการจัดการความเสี่ยงสุขภาพ มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆที่พึงปฏิบัตินั้นต้องมีความสมดุลกันด้านผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ส่วนบุคคล เช่น ประเด็นเรื่องการกักตัวเฝ้าระวังเชื้อโรค (quarantine) ระดับความเสี่ยงสูงมากจนต้องมีการกักบริเวณไหม? และถ้ากักแล้วควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ลิดรอนเสรีภาพและความเป็นมนุษย์
  2. การจัดการความเสี่ยงสุขภาพในภาวะฉุกเฉินทั่วทั้งสังคม การระบาดกระทบวงกว้างทุกคน ทุกภาคส่วน โดยไม่เลือกจำเพาะเจาะจง ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจ ล้วนต้องทำงานร่วมมือกัน เช่น เมื่อเกิดการระบาดแล้วสิ่งที่ตามมาคือการขาดแคลนเวชภัณฑ์ การทำงานภาครัฐฝ่ายเดียวหรือเอกชนฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และต้องอาศัยทุกๆฝ่าย เช่น ภาครัฐจำเป็นต้องออกฎหมายควบคุม ขณะที่ภาคเอกชนต้องไม่มีการกักตุนสินค้าเพื่อแสวงกำไร
  3. การจัดการนโยบาย การออกกฎหมายต้องผสานกันกับกระบวนการสาธารณสุขแห่งชาติในภาวะฉุกเฉิน และระดับความเสี่ยงที่เป็นอยู่ และการจัดการความเสี่ยงภาวะฉุกเฉินควรเป็นการบูรณาการทั้งระบบ มีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงต่างๆ หน่วยต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภาวะเสี่ยงภัย โดยการกำหนดหน้าที่ต่างๆต้องมีความชัดเจน กฎหมายต้องมีความชัดเจน และวางอยู่บนฐานกรอบจริยธรรมการจัดการภาวะฉุกเฉิน  
  4. การวางแผนและประสานงาน ต้องมีการร่วมมือประสานงานในทุกระดับการปกครอง ไม่ว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นหรือส่วนกลาง เพื่อข้อมูลตามหลักฐานวิทยาศาสตร์สามารถแพร่กระจายไปอย่างทั่วถึงยังหน่วยปฏิบัติงานทุกหน่วย นอกจากนี้ควรมีการสร้างระบบการบังคับบัญชาที่เหมาะสมต่อการรับความเสี่ยงฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีหน้าที่ในการบริหารและประสานงานเพื่อนำนโยบายการจัดการภาวะฉุกเฉินไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกันในทุกๆหน่วยงาน หรือทุกๆภาคที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาสังคม
  5. การจัดการข้อมูลข่าวสารและความรู้ สำหรับผู้ปฏิบัติงานสุขภาพควรได้รับข้อมูลความรู้และเทคนิคในการจัดการความเสี่ยงภาวะฉุกเฉินของการระบาดอย่างทั่วถึงทุกคน ส่วนการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีความสำคัญอย่ายิ่งยวดในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงระดับความเสี่ยงอย่างถูกต้อง และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการรับมือ โดยตัวข้อมูลและความรู้เองก็ต้องมีความแน่นอน เชื่อถือ ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และเลือกเวลาในการเตือนภัย หรือมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสม เช่น การประกาศหยุดเรียน การประกาศหยุดทำงาน
  6. ระบบโลจิสติคและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง การสื่อสาร การจัดเก็บโกดังสินค้า การจำหน่ายจ่ายแจกเวชภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างชั่วคราวและถาวรเพื่อรักษาพยาบาลต้องมีความพร้อม กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ประสานงานกับหระทรวงและหน่วยงานอื่นควรเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่มีการระบาดหนัก  
  7. การบริการรักษาพยาบาลและที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐและภาคเอกชนในระบบสุขภาพควรมีสมรรถนะในการรับมือการแพร่ระบาด ทั้งในด้านการให้การรักษาฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ให้เพียงพอต่อความจำเป็น และควรมีการจัดการด้านนโยบายและแผนงานเตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้า
  8. สมรรถนะของชุมชน บุคลากรด้านสุขภาพที่ประจำชุมชนเป็นหน่วยที่สำคัญสุดเสมือนเป็นด่านหน้าในการรับมือโรคระบาด ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมในการฝึกฝนบุคลากรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครที่ได้รับการฝึกฝน เจ้าหน้าที่จากภาครัฐ เพื่อนำนโยบายหรือ แผนงานจากส่วนกลางมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างกันไปของแต่ละชุมชน

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้นจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 มีแนวโน้มคงที่ เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วทางกระทรวงสาธารณสุขจึงยังมิได้ยกระดับความเสี่ยงของการระบาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนทั่วไปถึงคำถามว่า รัฐไทยมีความพร้อมหรือไม่ถ้าการระบาดของโรคอันตรายมากขึ้น?


ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog