ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐา" เปิดใจครั้งสำคัญ ไม่รับทุกตำแหน่งใน ครม. เดินหน้า 'เปลี่ยนแปลงเพื่อไทย' ให้กลับมาครองใจประชาชน ยันเป็นหนึ่งในทีม TRANSFORM ลุยทุกพื้นที่ทันทีหลังตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จ ขอโทษทุกคนที่ตัดสินใจช้า ลั่นรอบหน้าเห็นผมบนเวทีดีเบท

(26 พ.ค.) เมื่อค่ำวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ จัดงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์ก JOURNEY TO TRANSFORM ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมี เศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการแสนสิริ และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย มาบอกเล่าประสบการณ์การทรานส์ฟอร์มตัวเองจากการเป็นผู้บริหารสูดสุดด้านธุรกิจ สู่การเป็น นักการเมือง ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เศรษฐาขึ้นเวที โดยมี สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) เป็นผู้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ทางการเมืองหลังจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เศรษฐากล่าวว่า คิดอยู่นานมาก เป็นอะไรที่ทราบกันดีว่านักธุรกิจที่ก้าวข้ามเข้ามาสู่วงการเมืองและปรารถนาจะขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูง ก็มีเสียงเตือนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ของคดี เรื่องของการถูกเพ่งเล็ง แต่เชื่อว่าการที่เป็นนักธุรกิจมา 30 กว่าปี ลูกทั้ง 3 คน ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตการศึกษาและชีวิตการทำงาน 

บ้านเมืองช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างประสบปัญหา เมื่อตัวเองมีฐานะพอสมควรและไม่จำเป็นต้องมีมากไปกว่านี้ มีความสุขทางกายแล้ว แต่ความสุขทางใจ บางทีก็อยากเห็นคนอื่นมีบ้าน มีสังคมเจริญเติบโตภายใต้การบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการคนที่มีมุมมองใหม่ๆ

โดยเศรษฐา ยอมรับว่า การตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองช้า ทำให้เป็นรอง ซึ่งคือความผิดพลาดของตนเอง โดยคิดอยู่หลายรอบจากว่าจะตัดสินใจอย่างไร ชักเข้า-ชักออกอยู่หลายครั้ง และได้ถือโอกาสนี้ขอโทษผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 500 คน ในที่ประชุมพรรคไป ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันเช่นกัน จากเรื่องของความกังวล และอะไรหลายๆอย่างก็แล้วแต่ ซึ่งพอมาถึงจุดหนึ่ง ประมาณปลายเดือนมกราคม มีนักการเมืองท่านหนึ่งมาพูดคุยให้ก้าวข้ามความกลัว และหากถามว่า นักการเมืองคนนั้นคือใคร ที่ให้ความเคารพ และ ชื่นชมมากที่สุด ตนตอบได้เลยว่าคือณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย) แม้เขาจะไม่ได้รับเครดิตพอในวงการการเมือง แต่เป็นคนมีความรู้รอบตัวสูง เข้าใจบริบทการเมืองไทย อธิบายให้ฟังว่าทำไมตนจึงต้องเข้ามาตรงนี้ จนสุดท้ายตัดสินใจเข้ามาเต็มตัว โดยณัฐวุฒิ ได้เป็น "โค้ช" ให้ช่วงหาเสียงอีกด้วย 

เศรษฐา กล่าวถึงบทเรียนจากแวดวงการเมืองครั้งแรกว่า ได้บทเรียนเยอะมาก เพราะว่าตนเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา เมื่อเวลาเข้าสู่การเมืองจะระมัดระวังมากขึ้น วันแรกเมื่อเข้าพรรคเพื่อไทยก็มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยมีคำถามว่าจะรับตำแหน่งนายกฯ ตำแหน่งเดียวเลยใช่หรือไม่ ถ้าเป็นนักการเมืองมืออาชีพจะมีลูกเล่น แต่ตนก็ตอบชัดเจนว่าถ้าไม่ใช่ตำแหน่งนายกฯ ก็คงไม่เอา ซึ่งแรงสะท้อน กลับมาก็ค่อนข้างจะแรงเหมือนกับว่าคนใหม่ หัดโลภ เพิ่งเข้ามาถึงก็ใฝ่สูง ไปกันใหญ่เลยทีนี้ 

เศรษฐา กล่าวถึงการถอดบทเรียนสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งรอบนี้ว่า หลังปิดหีบเลือกตั้ง ผมคุยกับคนในพรรคเพื่อไทยว่า อีก 4 ปีข้างหน้าเราจะแข่งขันกับก้าวไกลอย่างไร แต่ปรากฎว่ามันไม่ใช่ 4 ปี แต่มันคือ 4 ชั่วโมงกว่าๆ มันมาเร็วกว่าที่คิด ตนเองคิดว่าเขาน่าจะได้ประมาณ 80 และพรรคเพื่อไทยได้ประมาณ 220 ส.ส. 

"การเมืองยุคใหม่ ยึดติดกับตัวบุคคลน้อยลง แต่ยึดกับนโยบายมากขึ้น 8 ปีทีผ่านมาประชาชนลำบากอย่างหนัก พอลำบากอย่างหนัก เค้าก็เรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ เรื่องเศรษฐกิจที่เพื่อไทยคิดว่าสำคัญ ก็ยังสำคัญ แต่การที่เขาลำบากยากแค้นกว่า 8 ปี สภาพจิดใจคือเรื่องสำคัญ Voter ในตางจังหวัดต่างคับแค้นใจ พอเขาแค้น เขาก็มีความฝัน มีความหวัง มีพรรคนึงมา พูดจาโดนใจ ให้ความหวังเขาอย่างมีความเป็นไปได้ อยากปรับโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องเอาเงินดิจิทัล 10,000 เข้ากระเป๋า หรือค่าแรง มันคือเรื่องเล็ก ทุกคนรู้ว่าเพื่อไทยเก่งมากในเรื่องนี้ แต่มันพาเขาออกจากคววามเจ็บปวดนี้ได้หรือเปล่า เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นสำคัญ ทำได้หรือไม่ แม้ตั้งเป็นคำถามไว้ แต่เราต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกล"

"การที่เขาเดือดร้อนมาเยอะมาก จนถึงจุดที่คิดว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างมันจะลำบาก ผมเริ่มเห็นมาสักพักแล้วว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของการต่อสู้ มันมีเรื่องโครงสร้างและจิตใจ เรื่องของการพูดที่โดนใจ อย่างยกเลิกเกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม ผมให้ความสำคัญมาก พรรคก็ให้ความสำคัญ แต่เราช้ากว่าเขา เวลาผมไปปราศรัยที่ไหน ผมจะมักจะบอกว่า เวลาพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนแปลง เราจะค่อยๆทำ ระยะเวลาอาจจะ 3-10 ปี แต่พรรคที่เขาชนะ เขาต้องการเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ ซึ่งเขาชนะการเลือกตั้ง" เศรษฐา กล่าว 

เศรษฐา กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยมีโครงสร้างที่ใหญ่เหมือนบริษัททั่วๆไป ที่พูดแบบนี้ ก็เพราะว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่พรรคเพื่อไทยเจอในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แล้วคุณไม่ TRANSFORM เลือกตั้งรอบหน้า คุณพรรคต่ำร้อยแน่นอน ซึ่งเราเห็นกันแล้ว ว่าผู้ชนะเขาทำอย่างไร ซึ่งตนย้ำอีกครั้งว่า ขอโทษคนในพรรคเพื่อไทย ว่ามาช้าไป และในวันนั้นพยายามเต็มที่แล้ว ตนหวังในวันนั้นว่า วันนึงน่าจะมีสัก 48 ชั่วโมง เพราะมีหลายจังหวัดที่อยากไป มีหลายวงที่อยากคุย มีหลายคนที่อยากสนทนา ช่วงนี้ตนจะพักผ่อนสั้นๆ จะนำบทเรียนทั้งหมดไปคิดมาใหม่ เพื่อสรุปว่าเราสามารถทำอะไรต่อไปให้พรรคได้บ้าง 

"ผมยังอยู่ในพรรคเพื่อไทยวันนี้ ผมต้องเข้ามาทำงานที่พรรคนี้ ผมจะเปลี่ยนแปลงพรรคเพื่อไทย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป ชัดเจน อย่างวันนี้ TikTok มาแรงมาก ผมบอกกับคุณอิ๊งค์แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า อีก 2 ปีครึ่ง หรือ 4 ปี จะยังอยู่นะ ถ้าผมกลับมาจากการพักผ่อนสั้นๆ หลังเขาจัดตั้งรัฐบาลกันเสร็จ การเคลื่อนไหวของผมคือการลงพื้นที่กลับไปคุยกับชาวบ้าน ประมง ชาวสวน รวมถึงภาคธุรกิจ เราจะไม่ลงพื้นที่เฉพาะช่วงการเลือกตั้ง แต่เราจะลุยทันทีหลังตั้ง ครม.เสร็จ ผมขอบคุณเพื่อนและครอบครัว ที่เข้าใจเรื่องนี้ ผมพาเขาซึ่งเป็นคนกรุงเทพ ไปเห็นชีวิตจริงๆ ของคนชายขอบมากขึ้น เราอยู่ในสังคมที่เป็นเคเชฟ ซึ่งอันตรายมาก ถ้าฐานรากไม่ถูกดันขึ้นมา ฐานบนขึ้นไม่ได้ ผมยืนยัน และใน ครม.ชุดนี้ ผมจะไม่รับทุกตำแหน่ง จะอยู่กับพรรคเพื่อไทย และทำในทุกๆ เรื่องที่พรรคมอบหมาย ผมคือทีมส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย" เศรษฐา กล่าว 

ช่วงหนึ่ง มีคำถามจาก อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวหัวข้อ JOURNER TO TRANSFOR ว่า หากเศรษฐาเป็นนายกฯ จะทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก โดยเศรษฐา ตอบว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเต็มไปด้วย worst case scenario เป็นตัวเลข เป็นการผสมผสานหลายๆ อย่างที่มันเหมือนกับอะไรที่ไม่เป็นใจให้แก้ไขปัญหาได้อย่างง่ายๆ

“หากวันนี้ผมเป็นนายกฯ ด้วยสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ปัญหาหลักอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ต้องร่างฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นนายกฯ ในสภาวะเช่นนี้เรื่องที่จะทำทันทีที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้อยู่ร่วมกันลำบาก ขัดขวางการเดินหน้าของเศรษฐกิจประเทศ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมองว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด รัฐธรรมมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่พิกลพิการ ถ้าถูกแก้เร็วที่สุดแล้วก็คืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน” เศรษฐากล่าว

เศรษฐากล่าวว่า ถ้าตนได้ทำตำแหน่งนี้ จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ระหว่างนั้นก็จะดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เช่น 1.การสมรสเท่าเทียม 2.สมัครใจเกณฑ์ทหาร ที่ต้องเทกแคร์คนรุ่นใหม่ และทำให้อยู่ร่วมกันได้ 3.ดิจิทัลวอลเล็ต 4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5.การแก้ปัญหาประมงจากกฎไอยูยู 6.นายกรัฐมนตรี ต้องบินไปเจรจาต่างประเทศ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 7.การเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โดยการอัพเกรดบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะทำงานภายใน 6 เดือน ถ้าเกิดเรื่องเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขและมีแบบแผนที่ชัดเจน เรื่องที่คนรุ่นใหม่ หรือพรรคร่วมรัฐบาลของตนมีความกังวล เช่น เรื่อง ม.112 ถ้ายังไม่มีการแก้ไขปัญหา สิทธิเสรีภาพที่แท้จริงยังไม่คืนสู่ประชาชน เมื่อผ่านไปแล้ว 6 เดือน มีเรื่อง พ.ร.บ.สะอาดสามารถเดินหน้าได้ทันที จากนั้นเรื่อง ม.112 เราจะนำเรื่องนี้กลับแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง 

เมื่อถาม เศรษฐา คำถามสุดท้ายว่า เดินหน้าการเมืองต่อใช่หรือไม่ เศรษฐาตอบว่า เดินหน้าต่อ และเวลานี้ เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล ที่จะต้องจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยต้องรู้หน้าที่ตัวเองและการไปดีลข้ามค่าย ตนยืนยันว่าไม่มี ในส่วนตัวตนนั้น มีหน้าที่รีแบรนด์พรรค Set Zero และดิสครัปพรรคเพื่อไทยเพื่อให้กลับมา ต่อสู้ในการเลือกตั้งรอบหน้าได้อีกครั้งหนึ่ง 

"ผมยังมีความหวังกับการเมืองไทยอยู่ ถ้าไม่มีความหวังผมคงไม่ไปต่อ และอยู่ในบทบาทที่คิดว่าตัวเองสามารถนำและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราอยู่กับความเป็นจริง แล้วผมจะฝึกดีเบตอีกครั้งหนึ่ง เพราะผมไม่ชอบความพ่ายแพ้ และรู้ว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน เราจะเดินหน้าต่อไป" เศรษฐา กล่าวจบในที่สุด 

ขอบคุณ : ประชาชาธุรกิจ