อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี และมติการประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน Expo 2023 Doha โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดนิทรรศการดังกล่าว พร้อมเข้ายื่นประมูลสิทธิ์ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
ซึ่งการประชุมสามัญใหญ่คณะกรรมการพืชสวนโลก AIPH ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก Horticulture World Expo ระดับ A 1 ที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029”
ภายในงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) จะเป็นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านพืชสวนโลกที่ทันสมัย โดยเป็นการผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นความก้าวหน้าในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำสวนแนวตั้ง และการผลิตอาหารสำหรับอนาคการปรับปรุงพันธุ์พืช การปลูกป่าในเมือง และภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มาเยือนและผู้เข้าร่วมงานให้หันมาใช้วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านเกษตรกร และชุมชนเกษตรกรรมในท้องถิ่น จะเกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรต่อไป
ทั้งนี้รัฐบาลไทย และกระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และทางชีวภาพ ซึ่งคาดการณ์ว่า งานนี้เงินสะพัดกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่ม(GDP)ในประเทศ 9,163 ล้านบาท รายได้จัดเก็บภาษีประมาณการ 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา