ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 ม.ค.) กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียน พยายามกดดันให้เกิดการยุติความขัดแย้งอันนองเลือดของเมียนมา และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสนับสนุนแผนสันติภาพระดับภูมิภาค และ "วิธีแก้ปัญหาที่เมียนมาเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำ" ต่อวิกฤติดังกล่าว

ในแถลงการณ์หลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของอาเซียน กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนความพยายามของทูตพิเศษคนใหม่จากลาวต่อกิจการด้านวิกฤตการณ์เมียนมา เพื่อการ "ติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง" และแสดงความมั่นใจในความตั้งใจของเขาที่จะช่วยเหลือเมียนมา

ทั้งนี้ เมียนมาประสบกับความขัดแย้งนับตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจการปกครอง ผ่านการทำรัฐประหารในปี 2564 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดความสับสนวุ่นวายทั่วประเทศ และยุติการปฏิรูปประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในระยะเริ่มต้นลงอย่างกะทันหัน

ตามรายงานของสื่อทางการ อลุนแก้ว กิตติคุณ ทูตพิเศษคนใหม่จากลาว ได้เข้าพบหัวหน้าเผด็จการทหาร ในระหว่างการเยือนเมียนมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ อย่างไรก็ดี ทั้งอาเซียนและลาวยังไม่ได้ประกาศต่อสาธารณะเกี่ยวกับการเดินทาในงครั้งนั้น และยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาได้เข้าพบกับกลุ่มต่อต้านระบอบเผด็จการหรือไม่

“เรายืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการช่วยเหลือเมียนมา ในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ ครอบคลุม และยั่งยืนต่อวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากเมียนมายังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน” กลุ่มรัฐมนตรีกล่าวในแถลงการณ์

“เรายืนยันความสามัคคีของอาเซียนและย้ำว่าความพยายามใดๆ ควรได้รับการสนับสนุน โดยสอดคล้องกับ (แผนสันติภาพ) และในการประสานงานกับประธาน” แถลงการณ์ระบุ พร้อมเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงและการยับยั้งชั่งใจ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ โดยปัจจุบันนี้ เมียนมามีผู้พลัดถิ่นแล้วมากกว่า 2 ล้านคน

ปัจจุบันนี้ อาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งภายในองค์การ เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขวิกฤติในเมียนมา

เผด็จการทหารเมียนมาได้ต่อสู้ในหลายด้านเพื่อปราบฝ่ายต่อต้าน จากกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตยที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเงา และกองทัพชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เผด็จการทหารเมียนมาเรียกฝ่ายต่อต้านว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และปฏิเสธที่จะเจรจากับฝ่ายตรงข้าม 

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนเมื่อปีก่อน ได้ริเริ่มการทูตอย่างเงียบๆ เพื่อส่งเสริมการเจรจาระหว่างฝ่ายที่ทำสงครามกันในเมียนมา อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสงสัยว่า ประธานอาเซียนปีนี้อย่างลาวจะมีอิทธิพลหรือเจตจำนงที่จะก้าวเข้าไปช่วยหาทางออกในเรื่องความขัดแย้งของเมียนมาหรือไม่

เมียนมาส่งข้าราชการเข้าร่วมการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผ่านการตอบรับคำเชิญของอาเซียนเป็นครั้งแรกให้ส่งตัวแทนที่ "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" เพื่อเข้าร่วมการประชุม สืบเนื่องจากนายพลระดับสูงของเมียนมาถูกสั่งห้ามในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินการตามแผนสันติภาพที่เผด็จการเมียนมาตกลงไว้กับอาเซียน 2 เดือนหลังการทำรัฐประหาร

มีรายงานว่า เผด็จการทหารเมียนมารู้สึกไม่พอใจต่ออาเซียน โดยเผด็จการเมียนมากล่าวหาว่าอาเซียนพยายามเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

ทั้งนี้ เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุในข้อความที่ส่งถึงสำนักข่าว Reuters ว่า การมาร่วมการประชุมของ มาลาร์ตันติเก รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอาเซียนต่อเมียนมา “เมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของอาเซียน” มาร์ซูดีกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียน ยังเรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจและการเปิดเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และเรียกร้องให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยเรื่องหลักปฏิบัติระหว่างอาเซียนและจีนต่อไป


ที่มา:

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/with-generals-barred-myanmar-junta-sends-bureaucrat-asean-meeting-2024-01-29/?fbclid=IwAR2EvinpHHZYEMKMFpX7qLB9henrRpnHNg1SvT_uC0e-3544t7Dkco5v7d8