ไม่พบผลการค้นหา
ขบวนการแรงงานไทยยอมรับไม่มีความเป็นเอกภาพ ผลักดัน ILO 87 และ 98 ยังไม่สำเร็จ ด้านนักวิชาการ ชี้ ต้องทบทวนการทำงานความคิดกับแรงงานและจุดยืนประชาธิปไตยด้วย

มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ จัดเสวนา “100 ปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศกับขบวนการแรงงานไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” เนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติปี 2562

นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์กรลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อเรียกร้องกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกปี คือ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO 2 ฉบับคือฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการร่วมเจรจาต่อรอง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมให้ข้อมูลประเทศอาเซียนต่อ ILO ทั้ง 2 ฉบับนี้ที่หลายประเทศรับรองบางฉบับ มีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา รับรองทั้ง 2 ฉบับตั้งแต่ปีก่อนปี 2500 และราวปี 2542 มีเพียงไทยกับเวียดนามเท่านั้น ที่ไม่รับรองแม้แต่ฉบับเดียว

นายทวียอมรับว่าขบวนการแรงงานรวมตัวกันไม่เหนียวแน่นทั้งในแง่เครือข่ายสหภาพต่างๆ และข้อเรียกร้องทางสังคม จึงมีความคิดส่วนหนึ่งว่า กลุ่มสหภาพต่างๆ ที่เห็นพ้องแนวทางเดียวกันอาจต้รวมกันเป็นสหพันธ์ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการขับเคลื่อนด้วย เพื่อผลักดันประเด็นของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด

นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า แม้รัฐไทยได้รับรอง ILO ไปแล้วหลายฉบับ โดยเฉพาะ ILO 102 ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีงานและรายได้ที่เหมาะสม แต่ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไม่ยอมรับรอง พร้อมกันนี้เรียกร้องให้รัฐไทยต้องรับรอง ILO 144 เกี่ยวกับระบบไตรภาคีหรือการเจรจา 3 ฝ่ายระหว่าง ภาครัฐ ภาคแรงงานและนายจ้าง เพื่อการหารือมาตรฐานแรงงานร่วมกัน ก่อนภาครัฐจะออกนโยบายหรือกฎหมายเกี่ยวข้องกับแรงงาน และก่อนผลักดันในรัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายหรืออื่นๆ

นายโกวิทย์กล่าวว่า ประเทศลาวได้รับรองแล้ว จึงแปลกใจว่าทำไมรัฐไทยยังไม่รับรอง ILO 144 ทั้งที่ระบบไตรภาคี ได้ทำมาตลอดในระดับกระทรวง จึงเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่รัฐไทยจะรับรองกฎหมายสากลข้อนี้ที่มีเนื้อหาหลักๆ ราว 10 ข้อเท่านั้น ที่สำคัญยังระบุสังกัปไว้ว่า การดำเนินการใดๆจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายภายในประเทศ พร้อมยกกรณีลูกจ้างหรือพนักงานของรัฐที่กฎหมายไทยไม่ให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ก็สามารถก่อตั้งสมาคมซึ่งเข้าข่ายเงื่อนไขตาม ILO 144 เพื่อสร้างอำนาจต่อรองหรือสร้างโอกาสหารือกันได้ตามกฎหมายไทย 

นางสาวพัชณีย์ คำหนัก นักวิชาการกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน มองว่า วันแรงงานสากล มีเพื่อแสดงถึงเอกภาพในขบวนการแรงงานและแยกไม่ออกจากแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งการผลักดันข้อเรียกร้องไม่สำเร็จนั้น ส่วนสำคัญมาจากปัญหาภายในของขบวนการแรงงานที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่สามารถระดมมวลชนจำนวนมากได้ นอกเหนือจากเงื่อนไขภายในอื่นๆ ขณะที่ระบบทุนนิยมมีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงทั่วโลก แรงงานทั่งโลกก็ไม่มีความมั่นคงเช่นกัน และปัญหาสำคัญที่แรงงานต้องคำนึงถึงด้วยคือการที่รัฐไทยยังไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

นักวิชาการด้านสังคมนิยมแรงงาน ระบุว่า การรณรงค์หรือเรียกร้องของแรงงานต้องอิงหลักการหรืิอมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งก็คือ ILO นั่นเอง โดยต้องเปรียบเทียบกับยุโรปหรือชาติตะวันตก ทั้งเรื่องค่าแรงและสวัสดิภาพการทำงาน เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการย้ายฐานการผลิตของบรรษัทภิบาลข้ามชาติมีการกดค่าแรงหรือมีมาตรฐานการจ้างงานที่แตกต่างในแต่ละฐานการผลิตที่อยู่คนละประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงหลายมิติครอบคลุมทั้งระบบการเมืองและชีวิตคนที่อยู่ข้างหลังด้วย และแม้แต่ประเทศที่รับรอง ILO ที่แรงงานเห็นด้วย แต่การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยประชาชนก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

นางสาวพัชณีย์ เสนอว่า ขบวนการแรงงานต้องทบทวนวิธีการทำงาน ทั้งต่อมวลชน กลุ่มสหภาพแรงงานเองและเครือข่ายสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่แยกส่วนงานระหว่างแรงงานกันเองและระหว่างแรงงานกับกระบวนการทางสังคมอื่นๆ อย่างที่ผ่านมา