นางเจนจิรัสตรา วงศ์ประทุม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า อุบัติเหตุชนท้ายคือ หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตบนถนนไทย ในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่สัญจรหนาแน่น เช่น ถนนมิตรภาพ จ. อุดรธานี มักเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกบ่อยครั้ง จากการรวบรวมสถิติการเกิดเหตุทั้งจังหวัด ในปี 2560 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุชนท้ายสูงถึง 40 ราย โดยเส้นทางที่เกิดเหตุสูงสุด 2 อันดับแรก คือ “ถนนอุดร-ขอนแก่น” และ “ถนนอุดร-หนองหาน”
นางเจนจิรัสตรา กล่าวว่า สถานการณ์และความรุนแรงของอุบัติเหตุในพื้นที่ แต่ละปีมีผู้ใช้รถใช้ถนนเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหา โดยหนึ่งในกระบวนการที่หน่วยงานสาธาณสุขดำเนินการ คือการเก็บรวบรวมสถิติและวิเคราะห์สาเหตุ พบว่าบนถนนมิตรภาพ จ.อุดรธานี มักเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุก ที่จอดพักรถบริเวณไหล่ทางในเวลากลางคืน โดยไม่เปิดไฟ ตั้งกรวย หรือตั้งป้ายสัญลักษณ์ แจ้งเตือนผู้ขับขี่ ประกอบกับมักจอดในพื้นที่กลับรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนบ่อยครั้ง หลายกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
นางเจนจิรัสตรา กล่าวว่า เมื่อทีมงานได้สถิติและข้อมูลการเกิดเหตุ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการลดและป้องกันอุบัติเหตุ เกิดเป็นโครงการแก้ไขอุบัติเหตุรถชนท้าย โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัดอุดรธานี ทีมอาสาสมัครกู้ภัยตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และ ปภ.จังหวัด ซึ่งภายหลังดำเนินการอย่างจริงจัง สามารถลดอุบัติเหตุและการสูญเสียลงได้ โดยในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตในเส้นทาง อุดร-ขอนแก่น เหลือเพียง 2 ราย จากจำนวนมากกว่า 20 ราย ในปี 2561 ที่ผ่านมา และในปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
นายไกรสร แจ่มหอม ประธานโครงการแก้ไขอุบัติเหตุรถชนท้าย จ.อุดรธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการเกิดจากจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต จึงตระหนักว่าหากไม่เร่งวางมาตรการหรือหาแนวทางแก้ไขปัองกัน ในอนาคตความรุนแรงและความสูญเสียจะยิ่งเพิ่มขึ้น สาเหตุที่เส้นทางนี้มีรถบรรทุกหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางไปสู่ สปป.ลาว จึงมีรถบรรทุกอุปกรณ์ก่อสร้าง รถขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลงฉบัง วิ่งสัญจรไปมาและหยุดจอดพักบริเวณไหล่ทาง เพื่อพักเหนื่อยและรอด่านมิตรภาพไทย-ลาว เปิดในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ประกอบกับรถขนอ้อยในช่วงฤดูกาล จำนวนไม่น้อยบรรทุกน้ำหนักเกิน แท่งอ้อยยาวโผล่เกินท้ายรถ และต้นอ้อยร่วงหล่นบนพื้นถนน เส้นทางนี้ถึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง
นายไกรสร กล่าวว่า วิธีการดำเนินงานได้ผสานรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ 1. การประชาสัมพันธ์ข้อมูล 2. การลาดตระเวนตรวจตราตลอดเส้นทาง ถนนมิตรภาพ รวมระยะทางกว่า 55 กิโลเมตร 3. การขอความร่วมมือคนขับรถบรรทุกขยับไปจอดในพื้นที่ปลอดภัย ตลอดเส้นทางนี้มีอยู่ 4 จุด คือ คู่ขนาดโนนสะอาด คู่ขนานกุมภวาปี คู่ขนานหน้าเทคนิคกาญจนาภิเษก คู่ขนานเนินสูง และ 4. การบังคับใช้กฎหมาย โดยตามปกติรถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถจอดพักบริเวณไหล่ทางได้ ยกเว้นกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ แต่การจอดต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยการตั้งกรวย ไม่น้อยกว่า 150 เมตร พร้อมเปิดไฟสัญญาน เพื่อแจ้งเตือนรถด้านหลัง ให้ระมัดระวังและขับผ่านไปด้วยความปลอดภัย
“หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พรบ.การขนส่งทางบก โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ส่วน พรบ.จราจรทางบก โทษปรับไม่เกิน 500 บาท และ พรบ.ทางหลวง โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แม้จะมีข้อกฎหมายที่ชัดเจน แต่การปฏิบัติหน้าที่ของทีมงานส่วนใหญ่นั้น เป็นไปในลักษณะการขอความร่วมมือและแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวรถบรรทุก” นายไกรสร กล่าว
ด้าน ร.ต.ท. ดาวรุ่ง วงศรีแก้ว หัวหน้าอาสากู้ภัยตำรวจทางหลวง กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุชนท้าย ส่วนใหญ่มักเกิดช่วงเวลา 19.00 - 21.00 น. ช่วงนี้รถบรรทุกส่วนใหญ่จะจอดกินข้าว และข้ามไปอีกครั้งในช่วงเวลา 02.00 - 03.00 น. ด้วยทัศนวิสัยช่วงกลางคืน ในบางจุดไม่มีไฟส่องสว่างจึงเกิดเหตุ ดังนั้นในแต่ละคืนอาสาสมัครกู้ภัย แบ่งทีมลาดตระเวนตรวจตรา 2 ครั้ง ตามช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อพบรถบรรทุกจอดในพื้นที่เสี่ยง จะขอความร่วมมือให้ขยับไปจอดในที่ปลอดภัย ในบางกรณีหากเจอแต่รถไม่พบคนขับ จะตั้งกรวยหรือป้ายไฟป้องกันการเกิดเหตุ ทั้งนี้ เนื่องจากทีมเป็นการรวมตัวกันของอาสาสมัคร บางครั้งเกิดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณสนับสนุน ภายหลังการได้รับทุนจาก คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด หรือ สอจร. ทำให้การปฏิบัติงานทำได้เต็มที่มากขึ้น