วันที่ 7 ก.ย. 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ร่าง โดยมีเหตุผลที่อาจแตกต่างกับ ส.ว. ท่านอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ส.ว. มีความเป็นอิสระ มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ได้ถูกครอบงำ สั่งการ หรือต้องหนี้ใคร
เสรี อภิปรายเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ร่างว่า ไม่ใช่เพราะการด่าทอเมื่อวานนี้ ส่วนตัวสามารถแยกแยะได้ และอดทนต่อคำใส่ร้ายป้าย พร้อมแย้งว่า ต่อการเสนอแก้มาตรา 272 นั้น ส.ว. ชุดปัจจุบันนี้มาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกมา เป็นความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านประชามติจากประชาชน ซึ่งวัดได้หรือไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่ 19 ล้านเสียงที่ให้ความเห็นชอบนั้นถูกหลอกอย่างที่ท่านกล่าวอ้าง
“ส.ส.ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคเพื่อไทยก็ดี หรือพรรคก้าวไกลก็ดี ก็มีคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. ที่ดีจำนวนมาก แต่ก็คงมีบางคนที่แสดงตัวว่าเป็นตัวแทนพรรคขึ้นมาอภิปรายกล่าวหา ส.ว. ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่พรรคก้าวไกลพยายามยืนยันตลอดว่า ส.ว. ชุดนี้ไม่ได้เกี่ยวพันกับประชาชน” เสรี กล่าว
เสรี ยังอภิปรายถึงการมีอยู่ของ ส.ว. ว่า สืบเนื่องมาจากการแก้วิกฤตความไม่ปรองดองของประเทศชาติ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีวุฒิสภามาแก้ไขวิกฤตในเวลา 5 ปี ไม่ใช่เพียงเลือกนายกฯ เท่านั้น แต่ยังมีภารกิจในการปฏิรูปประเทศอีกมากมาย ดังนั้น หน้าที่ของวุฒิสภาชุดนี้เป็นหน้าที่พิเศษ ต่างจากชุดก่อน โดยยังไม่มีใครตอบได้ว่าวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปหรือยัง แม้หลังเลือกตั้งใหม่ก็อาจเกิดวิกฤต เผาบ้านเผาเมือง เพราะเลือกนายกฯ ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมี ส.ว. ไว้
เสรี ยังย้ำว่า ความจริงเราไม่ได้หวงอำนาจ ยินดีจะออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ครบ 5 ปี ตามที่ได้รับมอบหมาย ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 272 ที่ประชาชนเสนอเข้ามา เราไม่ได้มองข้าม แต่หากท่านเสนอมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ คือช่วงใกล้ครบวาระ 5 ปี เราอาจจะเห็นด้วยกับท่าน
ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปราย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิพาดพิง โดยยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหากับที่มาของรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดจากคณะรัฐประหาร การเอ่ยชื่อพรรคเช่นนี้ทำให้พรรคเสื่อมเสีย ทำให้ประธานฯ ขอให้อย่าเอ่ยชื่อพรรค
แต่ต่อมา เสรี ยังอภิปรายต่อไปว่า ที่ผ่านมาสมาชิกฯ อภิปรายกระทบถึง ส.ว. มากมาย แต่ส่วนตัวมีความอดทนพอที่จะรับฟังโดยไม่ประท้วง แต่พอพูดคำว่า ก้าวไกล คำเดียว กลับลุกประท้วง ทั้งที่พรรคก้าวไกลก็มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เช่นเดียวกับ ส.ว. เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็กลายเป็นพรรคก้าวไกล ทั้งที่ไม่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนเลย แต่ก็มีสิทธิเลือกนายกฯ เช่นกัน
อมรัตน์ จึงใช้สิทธิพาดพิงอีกครั้ง โดยโต้กลับ เสรี ว่า มากล่าวหาพรรคก้าวไกลว่าไม่ได้คะแนนเสียงเลย นี่หรือคำพูดของผู้มีวุฒิภาวะ ประธานฯ ห้ามไม่ให้เอ่ยชื่อพรรค แต่ก็ไม่เคารพกฎ สมควรแล้วที่ประชาชนจะรังเกียจ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ทำตัวเป็นตัวอย่างที่เลว
ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวขึ้นมาว่า “หากหมดหนี้ คสช. แล้ว ท่านลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งแข่งกันดีกว่า”
ทำให้ เสรี ท้วงติงต่อประธานว่า ส่วนตัวไม่ได้ออกนอกประเด็นเลย แต่ อมรัตน์ กลับต่อว่าตนว่าเป็นตัวอย่างที่เลว ท่านได้ยินหรือไม่ ซึ่งพรเพชร ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ได้ยินเลยครับ ผมชักมึนแล้ว ถ้าพูดว่าเลว ต้องถามก่อนว่าท่านพูดจริงหรือเปล่า” ก่อนจะยืนยันว่า ไม่ได้ยินจริงๆ ขอให้เจ้าหน้าที่ย้อนบันทึกภาพเพื่อดูว่าพูดจริงหรือไม่