ปรีชา การสมพจน์ คือหนึ่งในคนประเภทหลัง เขาอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย ไม่ใช่ในฐานะนักศึกษา ไม่ใช่มวลชนฝ่ายขวา หรือเจ้าหน้าที่รัฐ อาวุธที่คล้องคอไม่ใช่ปืนHK แต่เป็นกล้องฟิลม์ Nikon - FM บทบาทหน้าที่ของเขาคือ ‘สื่อมวลชน’
ปกติเขาเป็นช่างภาพสายข่าวอาชญากรรม แต่หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมาถือเป็นยุคทองของการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นการนำของกลุ่มแรงงาน ชาวนา พนักงานรัฐวิสหากิจ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ปรีชาจึงได้รับมอบหมายให้เป็นช่างภาพที่ติดตามการชุมนุมด้วย
หลังเที่ยงวันที่ 5 ตุลาคม ปรีชาออกเวรตามปกติ ระหว่างเดินทางกลับบ้านเขาได้ยินเสียงวิทยุ ทราบข่าวว่ากำลังเกิดความวุ่นวายที่สนามหลวง เขาตัดสินใจแวะเข้าไปดู จอดรถทิ้งไว้ที่กองสลากเก่า และเดินข้ามฟากมายังสนามหลวง สิ่งที่เขาเห็นคือ กลุ่มนักเรียนอาชีวะ กระทิงแดง และนวพล กำลังรวมตัวกันก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ มีทั้งการจับกลุ่มยืนไฮด์ปาร์คด่าทอผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยว่าเป็นพวกทำลายสถาบันฯ และเป็นคอมมิวนิสต์ บางกลุ่มก็พากันวนเวียนเข้าไปประชิดรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมปาระเบิดขวดก่อกวนเป็นระยะ
“เหตุการณ์มันรุนแรงมากเรื่อยๆ จนถึงกลางคืนคนก็เพิ่มมากขึ้น เพราะมันมีการกระจายข่าวทางวิทยุคนก็เริ่มสนใจออกมาดู เราไม่รู้ใครเป็นใครบ้าง ถ้าเป็นพวกกระทิงแดง นวพล เขาจะมีสัญลักษณ์ พวกเสื้อผ้าเราจะดูออก รวมๆ มันมีทั้งกลุ่มพวกนี้และกลุ่มที่ออกมาดู คืนนั้นมีความพยายามพังประตูเข้าไป แต่ก็เข้าไปไม่ได้”
ปรีชา ทำหน้าที่สื่อฯ อยู่ในสนามหลวงตั้งแต่บ่ายวันที่ 5 ข้ามคืนไปจนถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นอกจากเห็นมวลชนฝ่ายขวาทยอยมารวมตัว เขายังเห็นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล กองปราบ และตำรวจตะเวนชายแดน เคลื่อนเข้ามาสมทบในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายด้วยเช่นกัน
ทว่าการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อระงับความรุนแรง หรือยุติการยั่วยุที่เกิดขึ้นในสนามหลวง และหน้ามหาวิทยาลัย เขาเห็นตำรวจเข้าไปประจำการที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งอยู่ติดกับรั้วธรรมศาสตร์ ขณะที่การก่อกวนภายนอกยังคงดำเนินไปตามปกติ
“ตำรวจเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สถานฯ ไม่ได้มาหน้าประตูธรรมศาสตร์ ไม่มีท่าทีมาระงับเหตุ ตลอดทั้งคืนที่มีการก่อกวนเขาก็ไม่ได้ออกมา ออกมาก็ตอนที่อาชีวะไปขับรถเมล์ 2 คันพุ่งชนประตู พอพังประตูได้ตำรวจก็บุกเข้าไป”
“พอตำรวจเข้าไป ช่างภาพส่วนหนึ่งก็เข้าไปด้วย ที่ว่ามีช่างภาพถูกยิงก็คือคุณอ๊อด เขาคลานอยู่ข้างหน้าผม ถูกยิงแถวหน้าประตู แต่ว่าไม่ได้ยิงจากข้างในออกมา มันยิงจากข้างนอกเข้าไป ไม่ใช่ปืนจากนักศึกษา เพราะอ๊อดโดนยิงจากข้างหลัง”
ปรีชา เล่าถึงเหตุการณ์การที่เพื่อนช่างภาพรายหนึ่งถูกยิง ก่อนที่ความวุนวายจะดำเนินต่อไป เขาเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปบริเวณหอประชุมก่อนที่จะทยอยลากตัวนักศึกษาที่เป็นการ์ดออกมาทีละคน
“ตำรวจเข้าไปจับตัวพวกนักศึกษาที่เป็นการ์ดออกมา เหตุการณ์มันก็เริ่มรุนแรง คนข้างนอกเยอะมาก เต็มแน่นไปหมด จับนักศึกษามาคนหนึ่งพอถึงหน้าประตู ก็มีคนฮือเข้ามากระชากตัวนักศึกษาไป แล้วก็ตี ทั้งไม้ มีด ขวด เก้าอี้ ทุบตีกันจนล้ม แล้วก็ลากหายไป เป็นอย่างนั้นอยู่หลายคนจับออกมาแล้วก็หายเข้าไป”
“มันหายไปหลายคน 5-6 คนได้ ผมก็สงสัยว่าหายไปไหน เลยเดินไปตามทางที่เขาลากไป ตรงสนามหลวงด้านหน้าศาล ก็ไปเห็นว่าเขาวางเรียงกันอยู่ประมาณ 6 คน แล้วมีคนกำลังเอาไม้ตอกอกเขาอยู่ ที่ถ่ายรูปได้พูลิตเซอร์(รางวัลภาพข่าวดีเด่นจากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยปี 2519) ตอนนั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาตายหรือยัง”
แม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวที่พบเจอมาด้วยตัวเอง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับปรีชา แววตาของช่างภาพวัยเกษียณดูเหมือนจะมีความเศร้าเข้ามาเกาะกุม เมื่อถามต่อไปว่า กลุ่มคนที่ถูกนำตัวออกมาเหล่านี้มีท่าทีอย่างไร ปรีชาเห็นว่า พวกเขาไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลย สีหน้าแววตามีแต่ความตกใจ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ร้องขอชีวิต และตัวเขาเองก็ไม่สามารถที่เข้าไปช่วยเหลืออะไรได้
“ไม่ได้พูดอะไรเลย สีหน้ามีแต่ตกใจ หน้าตาเขาตื่นมาก ไม่ได้ร้องขอชีวิตเลย ยังไม่ทันจะร้องด้วยซ้ำ เพราะถูกล็อคออกมาก็ถูกกลุ่มคนเข้ามาดึงไปทุบตี ตอนนั้นมันแย่มาก ผมถ่ายรูปไปก็น้ำตาไหลไป”
“มันคือฝูงคนที่กำลังบ้าคลั่ง ดูเขาไม่ได้สลดเลย เขากำลังสนุก อะไรของเขาก็ไม่รู้ ผมไม่เข้าใจทำไมคนเราจิตใจถึงได้โหดร้ายขนาดนี้”
สิ้นประโยคนี้เขาเก็บกลั้นความรู้สึกไว้ไม่ไหว ชายรุ่นพ่อวัย 75 ปี ใช้สองมือกุมหน้า เสียงสะอื้น น้ำตาไหลออกมา เกินกว่าจะควบคุม บรรยากาศในสตูดิโอที่จุคนไว้กว่า 7 ชีวิต นิ่งสนิท เราเอ่ยคำขอโทษออกไปแน่ใจว่าเขาได้ยินหรือไม่ มันเบามาก พูดลำบากเหมือนมีก้อนอะไรจุกอยู่ที่คอ ครึ่งนาทีเท่านั้น แต่รู้สึกเหมือนถูกแช่แข็งยาวนานเกือบชั่วโมง
“45 ปี แต่ว่ามัน… พอพูดถึงมันไม่ไหว เราไม่คิดว่าคนไทยจะโหดร้ายขนาดนี้”
ในแง่ของภาพ สิ่งที่เขาเห็น กับสิ่งที่เราเห็นจากภาพถ่ายของเขาคงไม่ต่างอะไรกันมาก ร่างนักศึกษาถูกตีจนเละ นอนเรียงอยู่ 5-6 คน มีชายคนหนึ่งใช้ไม้ปลายแหลมปักอยู่ที่อกศพ มืออีกข้างถือขวดน้ำอัดลม กำลังตอกลงไปที่ไม้ซึ่งมืออีกข้างประคองอยู่ พื้นหลังของภาพคือกลุ่มคนที่มุ่งดู คล้ายกับมาดูมหรสพ พวกเขาไม่มีความเศร้าบนสีหน้า องค์ประกอบภาพแม้จะบิดเบี้ยวไปบ้าง ด้วยเหตุว่าเขาต้องยื่นกล้องออกไปแอบถ่าย แต่มันเก็บรายละเอียดได้ดีว่า เบื้องหลังกลุ่มคนเหล่านั้นมีเจดีย์ 'วัดพระแก้ว' ตั้งเด่นอยู่
หลังถ่ายภาพเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เพียง 2 รูป ปรีชารีบออกมาจากจุดนั้น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เขารับตามตรงว่า 'กลัว' จากนั้นเขาย้อนกลับไปที่หน้าหอประชุม พบว่าบริเวณด้านในเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังยึดไว้ได้หมดและกำลังพาตัวนักศึกษาที่ขึ้นไปหลบบนตึกคณะบัญชีลงมา สั่งให้นอนหมอบที่สนามฟุตบอล เขาได้ภาพที่สนามฟุตบอลมาอีกชุดหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับไปสำนักพิมพ์
“ผมเข้าโรงพิมพ์ เลือกรูปให้หัวหน้าข่าว ก็ได้ตีพิมพ์ แต่หนังสือพิมพ์ออกไปวันเดียว เพราะมีรัฐประหาร โรงพิมพ์ถูกสั่งปิดอยู่ 2 วัน และหนังสือตอนเช้าถูกเก็บหมด ภาพก็ไม่ได้เผยแพร่เท่าไหร่”
“เราเห็นการฆ่ากันต่อหน้าหลายคนมาก แล้วเป็นเด็กๆ ทั้งนั้น ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้พูด ทำไมคนเราถึงฆ่ากันง่ายมากแค่ความเห็นต่างกัน มีอยู่ช่วงหนึ่งมันหลับตาก็เห็น แต่มันก็เลือน ค่อยๆ หายไป แต่มารื้อฟื้นตอนนี้ รู้สึกเหมือนมันฝังลึกอยู่ในใจ ผมไม่กล้าไปพูดที่ไหนเพราะอายเขา มันรู้สึกมันทนไม่ไหว เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน”
ปรีชาเชื่อว่า เหตุที่เกิดความรุนแรงได้ขนาดนั้นมาจากสื่ออย่างน้อยสองแห่งคือวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม มีการประโคมข่าวว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ สะสมอาวุธไว้ที่อุโมงค์ใต้ดิน อุโมงค์สามารถเดินทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และทำการล้มล้างสถาบันฯ แต่หลังจากล้อมปราบนักศึกษาเสร็จแล้วกลับไม่มีการค้นพบอาวุธ หรืออุโมงค์อย่างที่มีการกล่าวอ้าง เขาไม่เชื่อว่านักศึกษาคิดล้มล้างสถาบัน หากแต่เป็นความพยายามยุยงปลุกปั่นของฝ่ายเผด็จการมากกว่า และการที่จะทำให้คนไทยลุกฮือออกมาได้ คือการอ้างถึงสถาบันอันเป็นที่รักของคนในชาติ
“ทุกวันนี้ก็มีคนส่วนหนึ่งเชื่อ ยังหลงใหลกับคำปลุกปั่น แต่ยุคนี้ผมเห็นฝ่ายเผด็จการเขาก้าวหน้าขึ้น เขาใช้กฎหมายมาจัดการมากกว่า เห็นไหมว่าเด็กๆ พอแรงขึ้นหน่อยเขาก็จับเข้าคุก การต่อสู้กันมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ว่าความเชื่อของคนส่วน ไม่เชื่อแล้วเรื่องการปลุกปั่น คนส่วนใหญ่เข้าใจ ข่าวสารมันออกทั่วแล้ว”
เหตุการณ์สังหารหมู่ จบลงด้วยการรัฐประหารในช่วงเย็น องค์รัชทายาท (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 10) ทรงเสด็จเพื่อยุติการชุมนุม และทรงขอให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้านเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อน
ด้านนิสิตนักศึกษาที่รอดตาย และรอดพ้นจากการจับกุมคุมขัง ส่วนหนึ่งหลบหนีเข้าป่าเข้าร่วมต่อสู้กับรัฐภายใต้ธงนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และแตกพ่ายในเวลาต่อมา
ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้โดยโครงการบันทึก 6 ตุลา ระบุว่า 45 รายคือตัวเลขผู้เสียชีวิต 145 รายคือตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,094 รายคือตัวเลขผู้ถูกจับกุม 18 รายคือตัวเลขของผู้ตกเป็นจำ และ 0 รายคือตัวเลขของผู้ก่อการสังหารที่ถูกดำเนินคดี
สังคมไทยเงียบงันกับเรื่องนี้มายาวนาน จนกระทั่งปี 2539 งานรำลึก 6 ตุลา เพิ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ธงชัย วินิจจะกุล ซึ่งเป็นองค์ปาฐกในงานวันนั้น พูดตอนหนึ่งว่า "คิดดูสิว่า สังคมไทยมันโหดร้ายแค่ไหน 20 ปีแล้วเราเพิ่งมีงานศพให้พวกเขา"
และผ่านมา 46 ปี การพบกันของปรีชา การสมพจน์ และพวงทอง ภวัครพันธุ์ ในงานเสวนา “ซูมอิน 6 ตุลา สนทนากับช่างภาพ” ที่ Doc Club & Pub เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งปรากฎขึ้นมาว่า ร่างของชายในภาพที่ถูกตอกอกคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แม้จะเป็นที่รับรู้มานานแล้วว่า วิชิตชัยเป็น 1 ในเหยื่อ 5 คนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวง แต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเลยว่าเขาถูกตอกอกด้วย
ถึงปัจจุบันการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับ 6 ตุลา จะขยายกว้างออกไปมากกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่อีกหลายสิ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้รับรู้ แน่นอน เรายังมีผู้ตายที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายราย และยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา