วันที่ 21 เม.ย. คณะรัฐมนตรี อนุมัติร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานและเกิดประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ถูกกระทำและพยาน เช่น ให้ทุกองค์กรร่วมประกาศเจตนารมณ์ กำหนดทิศทางการป้องกันการแก้ไขปัญหา และกำหนดกลไกร้องทุกข์ของหน่วยงาน
พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) เพื่อทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆ และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ ด้วย
โดยร่างมาตรการฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงหลักการของมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558 จาก 7 ข้อ เป็น 12 ข้อ เนื่องจากมาตรการเดิมยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เท่าที่ควร ซึ่งมาตรการที่ปรับใหม่นี้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีรายละเอียดดังนี้
1.หน่วยงานต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร โดยประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึง
2.หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วม
3.หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ
4.หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดฯ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์กร
5.หน่วยงานต้องกำหนดกลไกในการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน เช่น ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมาย หรือกลุ่มคุ้มครองคุณธรรมฯ
6.การแก้ไขปัญหาอาจใช้กระบวนการไม่เป็นทางการเพื่อยุติปัญหา หากแก้ปัญหาไม่ได้จึงเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมาย
7.การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการโดยทันที เป็นไปตามเวลาที่กำหนด และต้องเป็นความลับ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
8.กรณีมีการร้องเรียนให้แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง
9.หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง
10.หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างร้องเรียนยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด และต้องให้โอกาสชี้แจง
11.หน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงานไปยัง ศปคพ. ภายในวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี
12.ศปคพ. เป็นศูนย์กลางประสานงานต่างๆ ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ และรายงานผลต่อ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ทั้งนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้เผยแพร่มาตรการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเคร่งครัด มีมาตรฐาน จัดการกับผู้กระทำผิดให้เข็ดหลาบ รวมถึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว