อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (17 มกราคม 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลดลง ประมาณ 5 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้
ร่างกฎกระทรวงที่เสนอในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้ จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนจึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษี เพื่อให้ฐานะการคลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเป็นไปตามประมาณการการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลดูแลมาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานของโลกยังคงผันผวนและสูงอยู่
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (17 มกราคม 2566) เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุม ปี 2566 จำนวน 5 รายการ ได้แก่ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เศษกระดาษและกระดาษที่กลับนำมาใช้ได้อีก และไก่เนื้อไก่ ซึ่งเป็นตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ (Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับดูแล ติดตามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ และราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อกำกับ ดูแลปริมาณและราคารับซื้อเศษกระดาษและกระดาษที่กลับนำมาใช้ได้อีกให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ขณะที่ไก่ เนื้อไก่ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับ ดูแล ติดตามปริมาณไก่และเนื้อไก่มีอย่างเพียงพอ และราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภค ด้วย ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 เรื่องกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 24 มกราคม 2566 นี้ จึงมีความจำเป็นต้องออกประกาศใหม่และนำประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนวันสิ้นสุดผลการบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) (ฉบับที่ 4 ) ซึ่งสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP ครั้งที่ 4 จำนวน 2 รายการ ใน 2 หมวด คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ดังนี้
1.การจัดทำรายการยา ในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด เป็นการปรับรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP จำนวน 3,138 รายการ จากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด โดยปรับใหม่ ดังนี้ ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือ ชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ ส่วนประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ เมื่อปรับปรุงแล้วจะส่งผลให้มีรายการยาทั้ง 2 ประเภท คงเหลือในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ
การปรับปรุงรายการยาดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาของการเบิกจ่ายยา เนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้า จะทำให้ยาที่มีตัวยาสามัญชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อหรือไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นชื่อสามัญของยาแก้ปวด ลดไข้ แต่มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น ยี่ห้อ SARA ยี่ห้อ PARA GPO หรือยี่ห้อ PARACAP
2.ค่าธรรมเนียมแพทย์ ในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ เป็นการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ (ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์) เพื่อให้เป็นไปตามคู่มือแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมการแพทย์ ปี 2563 ของแพทยสภา โดยปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 อาทิ 1)การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 9,000 บาท จากเดิม 6,000 บาท 2)การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 90,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท 3)การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 2,250 บาท จากเดิม 1,500 บาท
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมแพทย์ (ค่าบริการวิชาชีพ) คิดเป็นร้อยละ 45 ของค่าบริการผู้ป่วย UCEP ทั้งหมด (ค่าบริการผู้ป่วย UCEP เช่น ค่าห้อง และค่าอาหาร ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ค่าทำหัตถการ และค่าบริการวิชาชีพ) ดังนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมแพทย์ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2573) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้
โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมูที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตารางวา พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่
พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้ เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวเขื่อน 845 เมตร ความสูงเขื่อน 81.5 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กิโลเมตร
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ของจังหวัดน่าน ได้แก่ ตำบลผาทอง ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา ตำบลแสนทอง ตำบลศรีภูมิ ตำบลริม ตำบลตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน
รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและกรมชลประทานได้ออกแบบท่อส่งน้ำและอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรอบ ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังแสงอาทิตย์ของโครงการด้วย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของโครงการเป็นสำคัญ