ไม่พบผลการค้นหา
'สื่อนอก' มอง นักศึกษาชุมนุมด้วยความสงบ หลายสำนักล้วงลึกปัจจัยประท้วงมาจากความไม่เป็นธรรมของระบบยุติธรรม-สภาพเศรษฐกิจถดถอย พร้อมรายงานประเด็นรัฐธรรมนูญ-สถาบันฯ ส่วนแฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand ติดอันดับยอดนิยมในทวิตเตอร์

นับตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 ที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ลุกขึ้นเปิดฉากการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศ 

แฟลชม็อบหลายครั้งที่เกิดตามมา นอกจากจะมีเพื่อตอกย้ำเจตจำนงใน 3 ข้อเรียกร้องหลัก ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสถาบันสื่อในประเทศไทย ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่หนีไม่พ้นเงาของ ‘อุดมการณ์’ และ ‘จารีต’ 

ทว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ กลับได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 แห่งทั่วโลก อาทิ Nikkei Asian Review จากญี่ปุ่น ถึงขั้นสร้างหมวดหมู่ข่าวโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อ ‘Turbulent Thailand’ หรือ ‘ประเทศไทยที่ปั่นป่วน’ 

หนังสือพิมพ์จากฝั่งสหรัฐฯ ทั้ง Washington Post และ The New York Times แม้แต่สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจอย่าง Bloomberg ก็ยังหยิบการประท้วงครั้งนี้มาวิเคราะห์ควบรวมไปกับสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ถูกมองว่าจะรั้งท้ายอาเซียนในปีนี้ 

BBC และ The Guardian ซึ่งรายงานสถานการณ์ไทยตลอดติดตามประเด็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสำนักข่าวอื่นๆ ในเอเชีย ทั้ง The Straits Times และ Channel News Asia


สื่อ ตปท. รายงานเบื้องลึกการชุมนุม

Nikkei Asian Review ชี้ว่า หนึ่งในชนวนความไม่พอใจของผู้ชุมนุมสืบเนื่องมาจากความระบบยุติธรรมของประเทศที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีการโน้มเอียงและเลือกช่วยเหลือแต่ผู้ที่ร่ำรวยหรือมีอำนาจ

พร้อมยกกรณีคดีความของ 'บอส' วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งท้ายสุดแล้วกลับรอดพ้นทุกข้อกล่าวหา โดยกระแสความไม่พอใจยิ่งปะทุขึ้นไปอีก เมื่อไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และอาจมีตัวเลขจีดีพีติดลบถึง 8.1%

กระทิงแดง ศาลอาญา

Bloomberg รายงานคล้ายคลึงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย กำลังตกที่นั่งลำบากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งนอกจากภาวะนี้จะส่งผลต่อประชาชนก็ยังกระทบตรงไปถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองของตนเองด้วย

ขณะที่ Nikkei Asian Review อ้างอิงคำขู่ของนายกฯ ว่าผู้ประท้วงสามารถประท้วงได้ตามใจชอบ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย "ไม่อย่างนั้น ก็จบ" เท่านั้นยังไม่พอ ยังหยิบคำตอบของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ฝั่งหนึ่งชี้ว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย "แต่เราต้องระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่จาบจ้วงสถาบันสูงสุดของประเทศ"


ชอบธรรม แต่ 'ไม่ชอบให้ทำ'

สื่อต่างประเทศแทบทั้งหมด รายงานแรงจูงใจของผู้ร่วมการชุมนุมโดยเน้นย้ำไปที่ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปทางการเมือง โดยทั้ง Bloomberg และ The Guardian เขียนอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญของไทยถูกเขียนขึ้นโดย 'วุฒิสภาที่มาจากเผด็จการ'

สำนักข่าวเหล่านั้นยังกล่าวถึงประเด็นสถาบันหลักของประเทศ ที่ อานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชนเริ่มพูดต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการใน 'ม็อบแฮรี่พอตเตอร์' ก่อนจะมีผู้ปราศรัยอีกหลายคนลุกขึ้นมาพูดในม็อบ ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ จนนำไปสู่ประเด็นการจับกุมนักเคลื่อนไหว

ปนัสยา รุ้ง ธรรมศาสตร์ สถาบัน 0FF-4069-A14E-ABD940D48D93.jpeg
  • 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

The New York Times ที่นอกจากจะเข้าไปสัมภาษณ์พิเศษ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโฆษกสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ยังพูดคุยถึงความเสี่ยงที่เธอต้องเผชิญ หลังเลือกออกมาพูดเรื่องข้อเรียกร้องต่อสถาบันหลักของประเทศ

หนังสือพิมพ์ยังรายงานครอบคลุมกรณีนักเคลื่อนไหวชาวไทยอย่างน้อย 9 ราย ที่หนีออกจากประเทศเพราะถูกตั้งข้อหากระทำความผิดที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์กลายเป็นบุคคลหายสาบสูญ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ก่อน 2 จากทั้ง 9 ราย จะถูกพบเป็นศพในสภาพที่ท้องถูกยัดด้วยคอนกรีต

ก่อนจะเชื่อมโยงไปยังคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งครั้งก่อน ทั้งกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ และความผิดของอดีตพรรคอนาคตใหม่


เสรีภาพที่หาไม่เจอ
REUTERS-เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ยืนหน้าตำรวจ สน.บางเขน หลังมีหมายจับแกนนำชุมนุม 7 ส.ค.2563.JPG
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักกิจกรรม

สอดรับกระแสความสนใจของสื่อต่างประเทศ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ออกมาแสดงจุดยืนประเด็นการประท้วงในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ล่าสุด 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ออกประกาศ ณ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักกิจกรรม ที่ถูกตำรวจออกหมายจับฐานกระทำความผิดทั้งหมด 8 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นและกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีขึ้นปราศัยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทันที

ทั้งยังย้ำถึงสัตยาบันที่ประเทศไทยเคยให้ไว้ว่าจะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งองค์กรสิทธิย้ำชัดว่า "การประท้วงอย่างสันติและการแสดงออกเชิงวิพากษ์ต่อการปฏิรูปทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม" ยิ่งรัฐบาลออกมาจับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการส่อให้เห็นว่าผู้มีอำนาจของไทยไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันยังไม่พบว่า สำนักข่าวต่างประเทศแห่งไหนมองว่าการประท้วงที่นำโดยคนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความรุนแรงหรือไม่เหมาะสม แม้แต่ Nikkei Asian Review ยังพาดหัวด้วยการใช้คำว่า "การชุมนุมของนักเรียนที่สงบเรียบร้อย" สะท้อนชัดว่า แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นเป็นความชอบธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ขณะที่กระแสความนิยมในทวิตเตอร์ของไทยในวันที่ 'พริษฐ์' ถูกจับกุม พบว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์พากันกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและพูดถึงข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลไทย ผ่านแฮชแท็กในภาษาอังกฤษ #WhatsHappeningInThailand ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายได้เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนใจสถานการณ์การชุมนุมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยติดแฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand แต่ก็มีผู้ทวีตข้อความโต้แย้งผู้สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษาและเยาวชนเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีแฮชแท็กยอดนิยมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งช่วงค่ำ ได้แก่ #แท็กเพื่อนไปม็อบ

อ้างอิง; WP, The Guardian, Vox, Nikkei Asian Review, VOA, CBC, BBC, NPR, The Diplomat, Bloomberg, NYT, ST, CNA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;