‘การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น’ เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจและพูดถึงกันในวงกว้าง เพราะแนวคิดนี้จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องของการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) ที่ให้ความสำคัญกับราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในเชิงโครงสร้างและการตัดสินใจ ซึ่งการปกครองแบบรวมศูนย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลับไม่สามารถดูแลและตอบสนองความต้องการ รวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ภายใต้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ยังส่งผลให้ประเทศขาดความเป็นประชาธิปไตย กีดกันหรือเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทั้งด้านการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะนโยบาย หรือการบริหารร่วมกับฝ่ายรัฐ อีกทั้งความอ่อนแอของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ที่ขาดพัฒนาการต่อเนื่อง ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และขาดความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถูกพรรคการเมืองหยิบมาหาเสียงแทบจะทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มียุคใดเลย ที่การกระจายอำนาจจะบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ทั้งที่เราต่างเห็นตรงกันว่า การปกครองส่วนท้องถิ่น ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นในวันนี้ Voice จึงหยิบอุมดมการณ์และคำมั่นสัญญาที่ 8 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศไว้บนเวทีเสวนา ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ถึงแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และแนวทางที่อ้างว่าไม่ขายฝันประชาชน
ในฤดูใกล้เลือกตั้งที่ร้อนแรง เชิญทุกท่านกดเซฟถ้อยคำของพวกเขาไว้ในมือถือ วันใดที่พรรคการเมืองเหล่านี้ปรากฏตัวในสภา จะได้ไม่ลืมกัน…
จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่า โลกนี้มีเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลทำไม่ทัน ทำไม่ดี รัฐบาลไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น โลกต้องการบทบาทท้องถิ่น 9 ปีมานี้การกระจายอำนาจถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี โดยปัญหาต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยรวบรวทไว้ มีดังนี้
เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ จาตุรนต์ ชี้ถึงบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นว่า ในการวางบทบาทให้เหมาะสมชัดเจน เพราะในโลกปัจจุบัน มีเรื่องใหญ่มากเลยที่รัฐบาลต้องทำ แต่ทำไม่ทันและทำไม่ได้ดี ดังนั้น รัฐบาลในส่วนกลางจึงไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น ไม่ควรทำแทนท้องถิ่น นี่คือหลักการใหญ่
“ในช่วงที่ คสช. ยึดอำนาจ การกระจายอำนาจก็ถอยหลัง ท้องถิ่นอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ก็เลยไม่มีท้องถิ่นพูดอะไรเท่าไหร่ มาวันนี้พ้นสภาพนั้นไปแล้ว กำลังเข้าสู่การเลือกรัฐบาลใหม่”
จาตุรนต์มองว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการกระจายอำนาจอย่างมาก เราจะพบว่า 9 ปีมานี้ จนถึงปัจจุบัน การกระจายอำนาจของไทย ถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี เช่น การกำกับควบคุมจากส่วนกลางมีเต็มไปหมด คำสั่งครอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ หรือกระทั้งการทำแผนต้องสอดคล้องกับแผนจังหวัด นี่คือเรื่องที่ผิด เพราะเป็นงานคนละส่วนกัน ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องขึ้นกับจังหวัด นอกจากนี้โครงการจำนวนมากต้องผ่านการอนุมัติของอำเภอ และผู้ว่าฯ ทั้งที่ควรให้สภาฯท้องถิ่นอนุมัติได้
ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. เรื่องการบริหารงานบุคคลหรือแต่งตั้งโยกย้าย ก็เป็นคำสั่งที่กดทับท้องถิ่น ทำให้ขาดอิสระในการคัดสรรบุคลากร ดังนั้น กฎหมายต้องเอื้อให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการคัดสรรคบุคลาการ และให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการท้องถิ่นเขาไปได้ทั่วประเทศ อีกเรื่องคือการถ่ายโอนภารกิจที่ชะงักไปมาก มีการดึงกลับไปส่วนกลาง การแบ่งงานไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อน เช่น ท้องถิ่นจัดงานประเพณี จัดกีฬา ท้องถิ่นก็ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น
“ปัญหาใหญ่อยู่ที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ไม่ได้จัดแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน เราต้องการให้ท้องถิ่นรีสกิล อัพสกิล ส่งเสริมนวัตกรรม ฝึกอาชีพ แต่ สตง.อ้างว่าทำไม่ได้ เมืองสมัยใหม่ต้องการพัฒนา พรรคเพื่อไทยคิดว่า จังหวัดจัดการตนเอง ต้องการทำเรื่องนี้จริงจัง เราส่งเสริม จังหวัดไหนมีความพร้อม มีเงื่อนไขเหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดนำร่อง ประมาณ 4-5 จังหวัด นโยบายพรรคเพื่อไทย”
ตลอด 9 ปีนี้ ไม่มีการจัดแบ่งรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่น แต่ส่วนกลางออกคำสั่งให้ท้องถิ่นทำงานมากมาย ทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพ นมโรงเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ ทำให้งานที่ท้องถิ่นต้องการจะทำโดยความต้องการของท้องถิ่งและประชาชนในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานที่รัฐบาลสั่งมา
“หลังสุดแย่มากคือสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบ อปท. ผิดอย่างที่สุด สิ่งที่ต้องทำ ยกเครื่องคณะกรรมการกระจายอำนาจ จัดแบ่งหน้าที่ เงินงบประมาณกันใหม่ บุคลากรดูแลใหม่ ขั้นต่อไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กดทับท้องถิ่น สุดท้ายคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเอาท้องถิ่นกลับมาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สถานะกลับมาเหมือนเดิม”
จาตุรนต์ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ว่า
“เมื่อคำนวณทั้งหมดทั้งระบบ ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม สัดส่วนให้แก่ท้องถิ่นเพิ่ม แต่มันจะไม่พอ จริง ๆ แล้วเรื่องรายได้ท้องถิ่น ต้องวางระบบใหม่ ภาษีตัวไหนเหมาะให้ใครกันแน่ หรือภาษีตัวไหนยกให้ใครไปเลย ให้ประชาชนรู้ว่า การเก็บภาษีนี้ องค์กรไหนใช้ เขาจะได้ตรวจสอบได้ การแบ่งอำนาจเกินไป คนไปใช้มีหลายฝ่าย ชาวบ้านไม่รู้ตรวจสอบกับใคร” นายจาตุรนต์ กล่าว
ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าภูมิใจไทย กล่าวถึงแนวความคิดของพรรคภูมิใจไทยกับการกระจายอำนาจนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางพรรคให้ความสำคัญและมีมานานแล้ว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น หลายเรื่องพบว่า ถ้าให้คนในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเองเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาการบริหารจัดการบทบาทการตัดสินใจก็ยังไม่ 100 % มีหลายเรื่องที่ยังต้องแก้ไขกันอยู่มีหลายเรื่องที่ยังติดขัดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะตามกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่โดยหลักการ เหล่านี้ต้องมีเครื่องมือ
ทรงศักดิ์ได้คลี่แนวคิดเรื่องกระจายอำนาจผ่าน 2 ประเด็นหลักคือ
ทรงศักดิ์ยกตัวอย่าง กรณีการถ่ายโอนสถานีรถโดยสารที่ให้ท้องถิ่นคอยดูแล แต่กลัยไม่ให้อำนาจในการดูแลระบบการให้บริการสายทาง หรือกรณีล่าสุด คือการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ก็มีปัญหาเรื่องของการรักษา เพราะท้องถิ่นไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ กล่าวได้ว่า เป็นเพียงการให้โครงสร้าง ให้ภารกิจ ไปไม่ให้ทรัพยากรและบุคลากรในการทำงาน รวมถึงประเด็นด้านกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองทุกพรรคที่จะต้องไปดำเนินการแก้ไขต่อไป
"ผมอยากให้ 2 เรื่อง 100% ได้ไหม คือเรื่องอำนาจการบริหารจัดการเป็นของท้องถิ่น 100% ได้ไหม โดยไม่อิงส่วนกลาง ดังนั้น กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคการกระจายอำนาจต้องแก้ไขให้รองรับการกระจายอำนาจ 100% ให้ได้"
ท้องถิ่นคือกลไกสำคัญในการอุ้มชูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ที่ผ่านมา การวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกอันดับไปมาก โดยเฉพาะความสามารถของภาครัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ จึงนำเสนอนโยบายโมเดล ‘บันได 4 ขั้น’ ในการบริการจัดการท้องถิ่น ดังนี้
นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ถือเป็นดีเอ็นเอของประชาธิปัตย์ วันที่คิดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ6เม.ย.2489 วันนั้นประกาศอุดมการณ์ 10 ข้อโดยเฉพาะข้อ5 คือพรรคจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนกลาง โดยเฉพาะอุดมการข้อ 5 จึงไม่ต้องแปลกใจว่าไม่ว่ายุคใดที่ประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลเราเป็นคนเสนอกฎหมายกระจายอำนาจ โดยเฉพาะกฏหมายเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่ปี 2528 รวมทั้งในยุคที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี2537 เราได้ยกร่างกฏหมายในการยกฐานะสภาตำบลให้เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลจนถึงทุกวันนี้
รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ในปี 2542 เราได้มีการจัดทำกฎหมายแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจซึ่งจนถึงขนาดนี้เรากระจายอำนาจไปแล้วสองแผนแผนแรกคือการกระจายภารกิจให้ท้องถิ่น 245 ภารกิจแต่มีการถ่ายโอนไปแล้วกว่า 180 ภารกิจ ขณะที่แผนที่สองมีกว่า 100 ภารกิจกระจายไปแล้วกระจายไปแล้ว 77 ภารกิจขณะที่แผนที่สามกำลังจะตามมานี่คือนี่คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำเรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจเป็นหนทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทเมื่อปี 2523 ในยุคที่พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาชนบท เราเห็นความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทแต่ทันทีที่เราใช้การกระจายอำนาจมาแก้ปัญหาวันนี้เราไม่มีชนบทในประเทศไทย ไม่มีตำบลไหนที่ไม่มีถนนราดยาง การกระจายอำนาจจึงมีความสำคัญต่อประเทศ และเป็นการยืนยันว่าวันนี้เรามีการกระจายอำนาจได้แล้ววันนี้เรามีแต่เมืองขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะขับเคลื่อนเดินหน้าเมืองขนาดใหญ่ไปสู่เมืองมหานคร โดยเฉพาะเทศบาลนคร วันนี้หากเทศบาลนครใดมีความพร้อม พรรคมีความพร้อมที่จะยกฐานะให้เป็นเทศบาลมหานคร หรือหากจังหวัดไหนมีความพร้อมพรรคประชาธิปัตย์เรายืนยันที่จะให้เดินหน้าไปสู่จังหวัดจัดการตนเองอย่างแน่นอน "นี่คือสิ่งที่เรากล้าบอกกับพี่น้องประชาชนนี่คือแนวทางการกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด"
อดีต รมช.มหาดไทย กล่าวว่า มักจะมีคำครหาบอกว่ากระจายอำนาจไปมากเท่าไหร่การทุจริตมากขึ้นนั้น ขอยืนยันว่า ไม่จริง ตนในฐานะเคยเป็นนายกอบจ.มาก่อน
"ผมสู้เรื่องนี้มายาวนานมากเวลาใครพูดเรื่องท้องถิ่นโกง ตนจะอ้างตัวเลขปี 2552-2559 ที่มีการประกาศว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย 400,000 กว่าล้าน เชื่อหรือไม่ 200,000 กว่าล้าน กลับอยู่ที่ส่วนกลาง 100,000 กว่าล้านอยู่ที่รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ท้องถิ่น164 ล้านเท่านั้น ที่กล่าวหาท้องถิ่นทุจริตจึงเป็นไม่เป็นความจริง"
วันนี้ประชาธิปัตย์คิดว่ามันถึงเวลาที่เราต้องไม่ตัดเสื้อโหลแล้วแต่เราจะบังคับท้องถิ่นให้ทำเหมือนกันทุกอย่างเป็นไปไม่ได้เพราะปัญหาท้องถิ่น"
สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะทำต่อเราจะต้องไปดูในเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นภาษีตัวใหม่ใหม่ต้องกล้าที่จะคิดภาษีสิ่งแวดล้อมถึงเวลาที่ต้องคิดภาษีภัยพิบัติต้องคิดสิ่งเหล่านี้ให้เป็นฐานของท้องถิ่นได้หรือไม่แม้แม้กระทั่ง การให้ท้องถิ่นมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กล้าจะแบ่งให้ท้องถิ่น
สิ่งสำคัญที่ประชาธิปัตย์จะทำคือ มีธนาคารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเราประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณชัดเจนต่อไปนี้ท้องถิ่นท้องถิ่นไหนมีโครงการดีดีแล้วไม่มีงบประมาณ จะต้องไม่มีเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเมือง เราจะให้มีสถาบันพัฒนาเมืองมาตรวจสอบ ถ้าโครงการไหนดี เขามีงบประมาณแน่นอน
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล พรรคก้าวไกล ยกตัวอย่างว่า หลังจากคณะก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอาดสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำประปาไม่สะอาด สิ่งที่คณะก้าวหน้าได้ทำคือ การนำอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่ผลิตน้ำประปาสะอาดเป็นอุปกรณ์ในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ผลิตได้แล้วในไทย ดังนั้น หนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลคือ ทำน้ำประปาสะอาดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์การตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทมิเตอร์ เซนเซอร์ในไทย สร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในต่างจังหวัด
นโยบายของพรรคก้าวไกลในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังมีอีกหลายประการ ประกอบด้วย
“ท้องถิ่นมีอำนาจทำทุกอย่าง เว้นศาล ทหาร เงินตรา และการต่างประเทศ ก็ย้อนกลับสู่หลักการนี้ อยากสื่อสารออกไปว่า ช่วยกันลบล้างมายาคติเหล่านี้ว่า การกระจายอำนาจคือ การแบ่งแยกดินแดน ไม่จริง 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม ในทางกลับกันหากท้องถิ่นมีอำนาจ งาน เงิน คน ปัญหาผู้ก่อการร้าย หรือความอ่อนไหวในพื้นที่น่าจะคลี่คลาย เพราะคนในพื้นที่ตัดสินใจได้เอง ไม่ต้องอาศัยส่วนกลางที่อาจไปกดทับเขาไว้อยู่” นายณัฐพงษ์ กล่าว
อรัญ พันธุมจินดา ผู้อำนวยการ พรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า หากพูดถึงการกระจายอำนาจไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งความคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง
ประเทศไทยมี อปท.ดูแลประชาชนในการดำเนินกิจการสาธารณะทั่วทั้งประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในการที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับของประเทศไทยกำหนดให้ อปท. ต้องดำเนินการการปกครองตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยมีหัวใจสำคัญ ในการกระจายอำนาจ 2 ประการ คือ
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน อปท. ไม่ได้มีอิสระและอำนาจเท่าที่ควร เนื่องจากถูกควบคุมจากส่วนกลางและภูมิภาค ที่ต้องปฏิบัติตามแผนนโยบายของจังหวัด และต้องมาบูรณาการกับกลุ่มจังหวัด ทำให้ความอิสระยิ่งห่างไกลจากประชาชน แม้ตัวกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญได้มีการพูดถึงการกำกับดูแล อปท. แต่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า ‘ให้กำกับเท่าที่จำเป็น’
ปัจจุบันมีหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล อปท. กว่า 6,000 แห่ง จึงทำให้เกิดคำถามว่า การบริหารที่ถูกปิดกั้นการให้อิสระ และอำนาจปกครองเป็นความตนเอง เพียงพอในการสนับสนุนให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งหรือไม่
ดังนั้นการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ อปท. เป็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุง และรื้อโครงสร้างการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น ทั้งการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดไปจนถึงการบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า มีดังนี้
“สำหรับแนวคิดการยุบส่วนภูมิภาคหรือลดขนาดแล้วโอนงาน โอนเงิน ให้กับส่วนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องขับเคลื่อนกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ต้องให้เกิดความสอดคล้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น อะไรที่ทับซ้อน หรือไปควบคุม อปท.ก็ต้องทบทวน เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน หากลดขนาด แต่ต้องคำนึงถึงภารกิจด้วย”
ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า
‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ ที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองในทุกยุคทุกสมัยนำมาหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถดำเนินการได้จริง แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหา ‘รัฐรวมศูนย์’ อยู่บ้าง ทว่าปัจจุบัน แต่ละส่วนราชการกลับไม่ขึ้นตรงต่อกัน ทำให้การกระจายอำนาจเป็เพียงคำพูดลมๆ แล้งๆ
การกระจายทำอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แท้จริง ต้องกรระจายทั้งเงิน ความเจริญ และกระจายการมีส่วนร่วมให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น จะสังเกตว่าทุกการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีบทบาทต่อพรรคการเมืองเสมอ และพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงด้านการปกครอง จะใช้ส่วนราชการต่างๆ ทำประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง ดังนั้น โอกาสที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแทบไม่เกิดขึ้น
ประเทศไทยมีการการกระจุกตัวของรายได้มวลรวมในแต่ละจังหวัด ในประเทศไทย รวมที่กรุงเทพมหานครเยอะที่สุด สะท้อนภาพ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ดังนั้น จึงต้องจัดสรรงบประมาณ กำลังคน การมีส่วนร่วม โดยพรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
"ที่ผ่านมา การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราพูดกันสวยหรู มีสภาท้องถิ่น สภาพลเมือง ประชาชนมีส่วนตัดสินใจได้ แต่ทางปฏิบัติทั้งหมดกลับไปรวมอำนาจอยู่ที่คนคนเดียวคือ นายกรัฐมนตรี”
นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา เริ่มต้นด้วยการชูมีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ว่าด้วยการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ
ในส่วนของนโยบายของพรรค จะว่าด้วยการกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาถือว่าการกระจายอำนาจการบริหาร การปกครอง และการคลังสู่ท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ การกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่น จะช่วยสร้างกระบวนการการเรียนรู้ กระบวนการตัดสินใจของกิจการในท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตรวมถึงระบบสารสนเทศพื้นฐายในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ พรรคชาติไทยพัฒนายังสนับสนุนจังหวัดที่มีความพร้อม ไปสู่กาสรเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยยึดความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก
ในส่วนของการเสริมสร้างโอกาสประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายในการสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะชุมชน หมู่บ้าย ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและการปกครองได้อย่างอิสระ เพื่อสร้างสำนึกประชาธิปไตยไประดับชุมชน และนำไปสู่การเกิดประชาสังคมอย่างแท้จริง
โดยสิ่งที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะทำหากได้เป้นรัฐบาล มีดังนี้