4 เม.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการจับลำดับรายชื่อพรรคการเมือง ก่อนจับเลขสลากหมายเลขพรรค ว่า ต้องมีการจับฉลากยื่นลำดับ เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะจับก่อนจับหลัง จากนั้นจะเป็นการจับฉลากยื่นลำดับ เพื่อยื่นเอกสาร การตรวจเอกสาร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ บางพรรคมีไม่ถึง 100 คน เมื่อตรวจเอกสารเสร็จสิ้น ก็จะเป็นการจ่ายเงินค่าสมัครรายละ 10,000 บาท พรรคการเมืองทั้ง 49 พรรค มีคุณสมบัติครบถ้วน และได้หมายเลขในการหาเสียง ส่วนตัวยอมรับว่ามีปัญหาบ้างในเรื่องสถานที่ที่ต้องรองรับพรรคการเมืองทั้ง 49 พรรค
ส่วนช่วงบ่ายมีพรรคการเมืองมายื่นเรื่องรับสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 4 พรรค ถอนไป 1 พรรค ตอนนี้มีทั้งสิ้น 53 พรรค และพรรคที่ยื่นเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มี 16 พรรค 20 คน ซึ่งทาง กกต. จะทำเอกสารแจกให้หลังจากนี้
เมื่อถามว่า บรรทัดฐานของ กกต. ในการลำดับรายชื่อตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. นั้น พรรคที่เอกสารไม่ครบจะสามารถกลับมายืนให้ครบถ้วนได้หรือไม่ และจะทำให้ลำดับมีการเปลี่ยนแปลงไหม แสวง กล่าวว่า การจะส่งผู้สมัครเอกสารต้องครบถ้วนเป็นหลักการแรก แต่เอกสารที่ขาดคือพรรคการเมืองนำเอกสารสำเนาโดยไม่มีตัวจริงมา เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีปัญหาด้านกฎหมายใดๆ
สำหรับความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะให้จับสลากก่อนแล้วค่อยตรวจเอกสารนั้น เป็นเรื่องอำนวยความสะดวกต่อพรรคการเมือง ซึ่งสามารถส่งข้อมูลมาให้ กกต. ตรวจสอบก่อนได้ แต่พรรคการเมืองต่างๆ ให้ตรวจหน้างาน การตรวจไม่ได้ช้าหากดูตามเวลา 11.30 น. ก็เสร็จสิ้น แต่มีเหตุขัดข้องจากพรรคการเมืองที่เอกสารไม่สมบูรณ์
“ถ้าทุกพรรคทำเอกสารครบ ก็จะลำดับหมายเลขโดยอัตโนมัติ แต่หากพรรคที่อยู่ก่อนเอกสารไม่ครบถ้วน พรรคที่อยู่ลำดับต่อไปก็จะต้องเลื่อนขึ้นมา ปัญหาที่ตนเห็นในโซเชียล คือหัวหน้าพรรคจับฉลากได้ลำดับจับเบอร์ ประชาชนก็เข้าใจว่านั่นคือเบอร์ของพรรคนั้น แต่ความจริงจะต้องยื่นใบสมัครและตรวจเอกสารว่าครบถ้วนถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ และต้องชำระค่าสมัคร ถึงออกใบรับรองได้ นี่คือการสมัครที่ครบถ้วนถูกต้อง” เลขาฯ กกต. ระบุ
เมื่อถามว่า มีบางพรรคการเมืองทักท้วงมาว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ทำไมถึงไม่มีโลโก้พรรค แสวง ระบุว่า กกต. มีการถอดบทเรียนการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนบัตรเสียมากที่สุด อีกทั้ง มาตรา 84 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง กำหนดให้บัตรเลือกตั้งมีบัตรสองแบบ ซึ่งแต่ละแบบต้องต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าสีจะแตกต่างกัน ดังนั้นบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบจะทำเหมือนกันไม่ได้
ส่วนการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการกาบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบนั้น แสวง ระบุว่า จะให้บัตรเลือกตั้งอยู่ภายในหน้าเดียวกันทั้งสองแบบ โดยบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะพิมพ์เท่ากับจำนวนผู้สมัครสูงสุดคือ 16 เขต 16 หมายเลข ส่วนแบบบัญชีรายชื่อจะให้อยู่หน้าเดียวกันทั้งหมด รวมทั้งที่คูหาการเลือกตั้ง ก็จะมีการโชว์หมายเลขของผู้สมัครในแต่ละเขต และโชว์หมายเลขในแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะต้องทำให้บัตรเสียน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า ในการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หากพบว่า มีผู้สมัครในลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งขัดต่อคุณสมบัติบัญชีรายชื่อนั้นจะยังอยู่หรือไม่ แสวง ระบุว่า บัญชีรายชื่อทั้งหมดของพรรคจะยังคงอยู่ แต่จะตัดลำดับที่ขัดต่อคุณสมบัติออกก่อนจะเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมา
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเสนอแคนดิเดตนายกฯ นั้น แล้วพบว่า บุคคลดังกล่าวขัดต่อคุณสมบัติ แสวง กล่าวว่า กกต. ไม่มีอำนาจในการตัดสิทธิ์ เพียงแต่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในกรณีนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) คนละส่วนกับกฎหมายที่ระบุถึง ส.ส.