นายธีรพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งที่ 11/2563 โดยระบุถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศปัจจุบัน (16 มี.ค.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 37,815 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 53 โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,466 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,601 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 39 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,905 ล้านลบ.ม.
ส่วนการจัดสรรน้ำหน้าแล้งปี 2562/63 ปัจจุบัน (16 มี.ค.) จัดสรรน้ำตามแผนฯ ทั้งประเทศไปแล้วรวมทั้งสิ้น 12,676 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,431 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัดส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 16 มี.ค. 2563 ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 70 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันค่าความเค็มด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย
สำหรับแผนการส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานพิจารณาสภาพน้ำต้นทุน และการลำเลียงน้ำไปสู่พื้นที่ลุ่มต่ำพบว่า ไม่สามารถสนับสนุนน้ำในพื้นที่ 12 ทุ่งตอนล่างได้แต่ยังคงพิจารณาเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เนื่องจากสภาพปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ใช้ทุ่งบางระกำเป็นที่รองรับน้ำหลาก เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ได้แจ้งจังหวัดในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 13 จังหวัดประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วยแล้ว
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศในช่วงวันที่ 16–17 มี.ค. 2563 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 18–21 มี.ค. 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนขึ้น และมีฝนฟ้าคะนองลดลง ส่วนภาคใต้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลงทำให้มีฝนลดลง