ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ร่วมสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ประเมินผลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมจากโครงการนโยบายรัฐ พบการดำเนินนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ประสบผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ ทำเกษตรมีรายได้เพิ่ม 5,128 บาทต่อราย

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลการประเมินทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ได้จัดทำร่วมกับ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยประเมินจาก 11 โครงการ ระหว่างปี 2559-2561 จากกลุ่มตัวอย่าง คือ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร รวมทั้งสิ้น 1,223 ตัวอย่าง พบว่า การดำเนินโครงการนโยบายรัฐของ  ธ.ก.ส. ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ โดยในภาพรวม เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร หลังจากการเข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.49 (เกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 5,128 บาทต่อราย สหกรณ์การเกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.72 ล้านบาทต่อแห่ง และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.46 ล้านบาทต่อราย) มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.83 คุณภาพผลผลิตดีขึ้น ร้อยละ 2.86 มีทักษะในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.16 ต้นทุนการผลิตลดลง 

แบ่งเป็น 5.07 เปอร์เซ็นต์ มีช่องทางการตลาดและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1.23 เปอร์เซ็นต์ มีอำนาจในการต่อรองทางการตลาดเพิ่มขึ้น 2.94 เปอร์เซ็นต์ มีแหล่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 2.86 เปอร์เซ็นต์ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.13 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังส่งผลเชิงบวกด้านสังคม โดยภาพรวมหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME เกษตร มีโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของรัฐเพิ่มสูงขึ้น 23.71 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงความรู้ทางการเงินเพิ่มมากขึ้น 22.24 เปอร์เซ็นต์และมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น4.09 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโอกาสใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

ด้านผลการประเมินบทบาทต่อการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) โดยวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) พบว่า การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของ ธ.ก.ส. สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) เท่ากับ 1.48 ถึง 1.85

ด้านเศรษฐกิจ การจ่ายเงินกู้ในปีบัญชี 2560 มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 257,727 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 380,270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและธุรกิจแปรรูปการเกษตรที่ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อ อาทิ การทำไร่อ้อย การทำข้าวโพด การทำนา รวมทั้งธุรกิจภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมและธุรกิจการแปรรูปการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือการจ่ายเงินกู้ของ ธ.ก.ส. มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท

ด้านสังคม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 518 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 764 ล้านบาท โดยผลประโยชน์จะเกี่ยวข้องกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งเกี่ยวกับการรวมกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มการเงินและเครือข่ายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.48 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาชุมชน มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.48 บาท

ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดสรรเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม ปี 2556-2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 762 ล้านบาท สามารถสร้างผลประโยชน์ได้รวมทั้งสิ้น 1,408 ล้านบาท โดยผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการสร้างมูลค่าของทรัพย์สินจากต้นไม้ที่ปลูก การมีแหล่งน้ำใช้ทำการเกษตร รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1.85 หรือเงินลงทุนด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม มูลค่า 1 บาท สามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมคิดเป็นมูลค่า 1.85 บาท

ทั้งนี้ โครงการของ ธ.ก.ส. ในการสร้างความยั่งยืนและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำให้ชุมชนทั่วประเทศ โครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และโครงการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข