ที่อาคารรัฐสภา บรรยากาศก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีรัฐมนตรี และส.ส.ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมประชุม
โดยทุกคนจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และเดินผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกน พร้อมทั้งมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้เป็นจุดๆบริการให้กับทุกคนด้วย โดยเป็นไปตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาจะถูกห้ามเข้าพื้นที่และถูกส่งไปสังเกตุอาการที่โรงพยาบาลใกล้เคียง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมพร้อมชี้แจงร่าง พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 กล่าวสั้นๆว่า "ก็มีการเตรียมตัวมา" ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฎิเสธตอบคำถามถึงการเตรียมความพร้อม
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความพร้อมในวันนี้ว่า ตนมาฟังการอภิปราย พ.ร.ก. เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ เชื่อว่ากระทรวงการคลังสามารถชี้แจงได้ และมั่นใจว่า พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีความจำเป็น ชาวบ้านกำลังเดือนร้อนอยู่ ฝ่ายค้านท้วงติงว่ารายละเอียดการใช้จ่ายเงินไม่ชัดเจน นายสมคิดกล่าวว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวให้เค้าชี้แจง
วิปฝ่ายค้านหารือรอบสุดท้ายก่อนประชุมสภา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวจอง คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน นำโดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นัดประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เสนอให้หารือกับนายชวน ถึงการประสานไปยัง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอให้พิจารณาข้อยกเว้นการบังคับใช้ข้อห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ให้กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเวลา 23.00 - 04.00 น. หากประสานได้ จะทำให้เวลาประชุมสภาฯ ที่กำหนดจนถึงวันที่ 31 พ.ค. อาจลดเหลือแค่วันที่ 30 พ.ค. และมีเวลาได้พัก ขณะที่ประชุมวิป ฝ่ายค้านแสดงความเห็นด้วย
แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เวลาที่กำหนดให้อภิปราย จำนวน 5 วันนั้น ควรให้คงเวลาไว้ แต่หากของดเว้นช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ อาจใช้เป็นเวลาที่ทด สำหรับเวลาที่เสียไป ช่วงการประท้วง เป็นต้น อย่างน้อย 01.30 ชม. ซึ่งนายสุทิน ระบุว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอ และขอให้นพ.ชลน่าน หารือกับนายชวนบริเวณหลังบังลังก์ เพราะหากนำไปหารือร่วมกับวิปรัฐบาล อาจไม่ได้รับการยอมรับหรือเห็นด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือ ต่อประเด็นต่างๆ อาทิ การตั้งทีมพิทักษ์เวลา เพื่อจับเวลาการอภิปราย กันการโกงเวลาเกิดขึ้น รวมถึงจัดทีมประท้วง จากพรรคการเมืองต่างๆ ได้ส่งตัวแทนพรรคละ 1 คน ยกเว้นพรรคเศรษฐกิจใหม่ อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น สำหรับการอภิปราย จะให้ผู้อภิปรายลุกขึ้นอภิปรายได้เพียงหนึ่งรอบเท่านั้น และการอภิปรายจะเน้นหนักในวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนด
สำหรับสัดส่วนในการอภิปรายครั้งนี้ มีผู้ประสงค์จะอภิปรายรวม 76 คน แบ่งเป็นจากพรรคเพื่อไทย 54 คน , พรรคก้าวไกล 13 คน , พรรคเพื่อชาติ 1 คน , พรรคเสรีรวมไทย 3 คน , พรรคประชาชาติ 3 คน , พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ สำหรับลำดับการอภิปรายจะหารือร่วมกันวันต่อวัน เนื่องจากในแต่ละวันสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลำดับเนื้อหา หรือน้ำหนักประเด็นอภิปราย นอกจากนี้ ประธานการประชุม ยังมอบหมายให้แต่ละพรรค ตั้งสมาชิกพิทักษ์กฎระเบียบการประชุม เพื่อมาต่อกลอนกับกลุ่มพิทักษ์สภา และพิทักษ์เวลาของการประชุมด้วย
ด้านนพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะหารือกับประธานสภา ในส่วนของเวลาในวันเสาร์ ให้ยกเว้นเวลาเคอร์ฟิวส์ เฉพาะส.ส.เพื่อที่ว่าหากการอภิปรายยังตกค้างจะได้จบในวันเดียว เพราะตามระเบียบจะอภิปรายในวันเดียวกับที่ลงมติไม่ได้