ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' รับรายชื่อประชาชนกว่า 2 แสนชื่อ ย้ำจุดยืนเห็นด้วย ตั้ง สสร.-ถามความเห็นประชาชน แก้ รธน.ใหม่ ชี้ แม้จะเป็นพรรคแกนนำ เป็นนโยบายหลัก แต่ต้องหารือกับพรรคร่วมด้วย ลั่น หลังนายกฯ แถลงนโยบาย คุยเรื่องนี้ทันที

วันที่ 28 ส.ค. เมื่อเวลา 14.00 น. ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย จีรนุช เปรมชัยพร และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ilaw นำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมจากการล่ารายชื่อ จำนวน 205,739 รายชื่อ ขอให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยคำถามที่ไม่มีเงื่อนไข ให้กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งรับหนังสือแทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมกับ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

โดยตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และครั้งที่สองร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่องการประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญตรงกันที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นเป็นนิมิตรหมายอันดีและเห็นความตั้งใจดีของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ยังคงมีความกังวลว่า หากในการทำประชามตินั้น คณะรัฐมนตรีออกแบบคำถามการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือกหรือผลการทำประชามติไม่มีความหมาย ไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของนักกิจกรรมทางสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามในการทำประชามติตั้งแต่เริ่มต้น จึงประสงค์ที่จะเสนอคำถามที่ครอบคลุมชัดเจนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยได้ใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 รวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามดังกล่าว โดยกิจกรรมนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยจำนวนมาก และช่วยกันรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 205,739 รายชื่อ ด้วยการลงชื่อบนกระดาษภายในเวลาเพียงสั้นๆ และอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

ด้วยจำนวนรายชื่อของประชาชนที่มากเช่นนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความไม่มั่นใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทันการประชุมเริ่มคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรก จึงนำคำถามประชามติที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอนี้มายื่นให้กับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้นำคำถามนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกและตัดสินใจให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสาระสำคัญและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องการจะเห็น โดยไม่ต้องรอขั้นตอนการเสนอเรื่องของหน่วยงานราชการ

โดยหลังจากรับหนังสือ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาล การแก้ไข รธน.ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นนโยบายหลัก ทันทีที่มีการแถลงนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรี ก็จะหยิบเอาวาระนี้ มาพูดคุยกัน 

ด้าน รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ริเริ่มทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2563 ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ใน ม.256 ไปเพื่อให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า รธน.2560 ผ่านประชามติ หากจะทำ รธน.ใหม่ ให้ถามประชามติจากประชาชนเสียก่อน ว่าอยากทำ รธน.ใหม่หรือไม่ ท้ายที่สุด รัฐบาลสมัยนั้นก็โหวตไม่ผ่านวาระ 3 เพราะมีการไปตีความว่า คำวินิจฉันของ ศาล รธน.ก่อนทำ รธน.ฉบับใหม่ ต้องไปถามประชาชน โดยไม่รู้เลยว่า หน้าตา รธน.ใหม่เป็นอย่างไร 

แต่พรรคเพื่อไทย ยังยืนว่า ต้องทำ รธน.ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เรื่องนี้ไม่มีปัญหา จึงต้องทำประชามติ ถามความเห็นจากประชาชน และน้อมรับในข้อเสนอของ iLaw พร้อมรายชื่อประชาชนที่เสนอมาในวันนี้