ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ชุมนุมรวมตัวกันครั้งใหญ่ในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ เรียกร้อง ปธน. ทรัมป์ ยกเลิกนโยบายกักกันผู้อพยพและส่งกลับโดยไม่มีการตรวจสอบเอกสาร ด้าน ออท.ของสหรัฐฯ ประจำเอสโตเนีย ลาออกหลังทรัมป์เป็นปฏิปักษ์กับชาติพันธมิตร

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความโจมตีกฎหมายว่าด้วยผู้อพยพของสหรัฐฯ เข้าข่าย 'กฎหมายที่โง่ที่สุดในโลก' เพราะทำให้สหรัฐฯ ต้องรับภาระเรื่องผู้อพยพ จึงเรียกร้องให้ประชาชนอเมริกันเลือกพรรครัฐบาลรีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะจัดขึ้นเดือน พ.ย.เพื่อสนับสนุนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้อพยพ

ทั้งนี้ ทรัมป์ระบุว่ากฎหมายว่าด้วยผู้อพยพที่ใช้อยู่เป็นช่องโหว่ให้กลุ่มอาชญากรต่างประเทศลักลอบเข้าสหรัฐฯ ทำให้ต้องบังคับใช้นโยบาย Zero Tolerance เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าจะไม่มีการประนีประนอมกับผู้อพยพโดยเด็ดขาด ผู้ใดที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารตามกฎหมายจะถูกส่งกลับประเทศทันที

ขณะที่ผู้คัดค้านนโยบายดังกล่าวยืนยันว่าผู้อพยพจำนวนมากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากภัยยาเสพติดในประเทศแถบลาตินอเมริกา ทำให้ต้องอพยพลี้ภ้ยมายังสหรัฐฯ โดยใช้เส้นทางผ่านชายแดนประเทศเม็กซิโก ส่วนประชาชนอีกบางส่วนไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์มีคำสั่งให้แยกกักตัวครอบครัวผู้อพยพ ทำให้เด็กถูกพรากจากพ่อแม่ เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผู้ชุมนุมต่อต้านนโยบายผู้อพยพของทรัมป์ได้ร่วมกันเดินขบวนเกือบ 700 จุดในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ รวมถึงหน้าอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรมในกรุงวอชิงตันดีซี ทั้งยังมีการรวมตัวในนครนิวยอร์ก เมืองพอร์ตแลนด์ และเมืองใหญ่อื่นๆ ด้วย

AP-นโยบายผู้อพยพทรัมป์-ประท้วงสหรัฐ-ICE-ผู้อพยพ-ชายแดนเม็กซิโกAP-นโยบายผู้อพยพทรัมป์-ประท้วงสหรัฐ-ICE-ผู้อพยพ-ชายแดนเม็กซิโก

ความสับสนในสภา-เลื่อนพิจารณาร่าง ก.ม.ผู้อพยพฉบับแก้ไข

สื่อสหรัฐฯ หลายสำนักรายงานว่า การประชุมพิจารณากฎหมายว่าด้วยผู้อพยพฉบับแก้ไขที่ยังค้างอยู่ในสภาล่างของสหรัฐฯ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังต้องปฏิบัติตามนโยบายผู้อพยพ Zero Tolerance ของทรัมป์ต่อไปอีก เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงแตกว่าจะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใด ระหว่าง (1) ร่าง ก.ม. 'ฉบับประนีประนอม' กับ (2) ร่าง ก.ม.ที่นำเสนอโดย บ๊อบ กู๊ดแลตเต ส.ส.รีพับลิกัน ประจำรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเข้มงวดกว่าอีกฉบับหนึ่ง

ร่าง ก.ม.ฉบับประนีประนอม ผ่านการหารือกันแล้วในกลุ่ม ส.ส.ที่มีแนวคิดสายกลางของพรรครัฐบาล ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้อพยพวัยเยาว์ หรือ 'ดรีมเมอร์' ที่เกิดหรือเติบโตในสหรัฐฯ นานกว่า 12 ปีมีสิทธิ์ศึกษาเล่าเรียน ทำงาน และพักอาศัยในสหรัฐฯ รวมถึงมีสิทธิ์ขอสัญชาติอเมริกัน แต่ขณะเดียวกันก็จะอนุมัติงบสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกด้วย ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตคัดค้านเนื้อหาในส่วนนี้ ขณะที่ร่าง ก.ม.ฉบับกู๊ดแลตเต จะไม่อนุญาตให้ผู้อพยพวัยเยาว์ในสหรัฐฯ ขอสัญชาติอเมริกันได้ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ทวีตข้อความเรียกร้องให้สมาชิกพรรครัฐบาลรีพับลิกันโหวตหนุนร่าง ก.ม.ผู้อพยพ ฉบับกู๊ดแลตเต โดยย้ำว่าจะทำให้มาตรการจัดการผู้อพยพเข้มงวดยิ่งขึ้น ป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากกลุ่มผู้อพยพ และส่งเสริมให้ชาวอเมริกันได้มีงานทำเพิ่มขึ้น แต่ผลปรากฎว่าที่ประชุมไม่อาจลงมติรับรองร่าง ก.ม.ได้ และลงมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปหลังวันหยุดยาวช่วงเฉลิมฉลองวันชาติ 4 ก.ค.  

การที่สภาผู้แทนราษฎรยืดเวลาลงมติร่าง ก.ม.ผู้อพยพ ทำให้นโยบาย Zero Tolerance ของทรัมป์ถูกใช้ต่อไป ทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และต้องถูกระงับโดยเร็ว แม้ทรัมป์จะลงนามยกเลิกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่แยกกักตัวระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จากครอบครัวผู้อพยพ แต่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภาคปฏิบัติมากนัก

AP-นโยบายผู้อพยพทรัมป์-ประท้วงสหรัฐ-ICE-ธงสหรัฐ-สะพานบรู๊คลินAP-นโยบายผู้อพยพทรัมป์-ประท้วงสหรัฐ-ICE-สะพานบรู๊คลิน

ทูตสหรัฐฯ ลาออกประท้วงทรัมป์ปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อชาติพันธมิตร

ช่วงเดียวกับที่มีการประท้วงของประชาชนในสหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวในฝั่งนักการทูตเกิดขึ้นเช่นกัน โดยเจมส์ ดี. เมลวิลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเอสโตเนีย หนึ่งในประเทศกลุ่มบอลติก ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 33 ปี รวม 6 รัฐบาล ทั้งในสมัยพรรครัฐบาลรีพับลิกันและพรรคเดโมแครต โดยเป็นการลาออกก่อนที่จะมีการแต่งตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน

เมลล์วิลล์เผยเหตุผลในการลาออกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศถูกปลูกฝังไปถึงระดับสายเลือดให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ถูกย้ำตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ว่า ถ้าหากถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะผู้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องพิจารณาตัวเองและลาออก ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของทรัมป์ที่ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศพันธมิตรในสหภาพยุโรป (EU) และสมาชิกองค์การนาโตในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กรณีของเมลวิลล์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ด้านการทูตของสหรัฐฯ ประกาศลาออกเพราะไม่อาจปฏิบัติตามนโยบายของทรัมป์ได้ โดยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จอห์น ฟีลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำปานามา ลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่ามีความเห็นขัดแย้งบางประการต่อนโยบายของทรัมป์ ทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ส่วนนายเท็ด โอเซียส อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนาม เผยแพร่แถลงการณ์ลงในวารสาร Foreign Service Journal เดือน เม.ย. ระบุถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทูตเมื่อเดือน ต.ค. 2560 เป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศหลายข้อของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาว่าจะส่งตัวชาวเวียดนามราว 8,000 กลับประเทศ ทั้งที่ชาวเวียดนามเหล่านั้นเป็นผู้ลี้ภัยสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ มีส่วนร่วมในอดีต

ที่มา: CBS News/ Fox News/ New York Times/ Washington Post

อ่านเพิ่มเติม: