'เซเลนา สโกลา' อดีตพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก ยื่นฟ้องร้องบริษัท เฟซบุ๊กว่าไม่ป้องกันบาดแผลทางจิตใจของพนักงาน จากการต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวัน เพื่อพิจารณาว่า เนื้อหาใดที่ละเมิดเงื่อนไขการใช้เฟซบุ๊กหรือไม่ ทำให้เธอได้รับบาดแผลทางจิตใจ และมีอาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD
สโกลาระบุว่า "ทุกวัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์วิดีโอ ภาพ และถ่ายทอดสดการล่วงละเมิดเด็ก การข่มขืน ทรมาน การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ การฆ่าตัดคอ การฆ่าตัวตายและการฆาตกรรมหลายล้านโพสต์"
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีพนักงานตรวจสอบเนื้อหาอย่างน้อย 7,500 คน และมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ทั้งการรับคำปรึกษาและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ฝึกฝนให้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของ PTSD ได้
อย่างไรก็ตาม สโกลาอ้างว่า เฟซบุ๊กละเลยมาตรการความปลอดภัยในการทำงานของตัวเอง และยังละเมิดกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในการให้พนักงานทำให้ใน "สภาพอันตราย ซึ่งเป็นผลให้เกิดอันตรายทางกายและทางจิต" อีกทั้งยังระบุว่า เฟซบุ๊กไม่ได้จัดอบรมหรือให้มาตรการความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้พนักงานตรวจสอบเนื้อหาต้องดูโพสต์ที่มีเนื้อหารุนแรงวันละหลายพันโพสต์ โดยที่ไม่ค่อยรู้ว่าต้องรับมือกับความเครียดที่ตามมาอย่างไร
ในหนังสือยื่นคำร้องระบุว่า อาการ PTSD ของสโกลาจะถูกกระตุ้นขึ้นมา หากเธอจับเมาส์คอมพิวเตอร์ เข้าไปในอาคารที่อากาศหนาวเย็น เห็นความรุนแรงในทีวีหรือได้ยินเสียงดัง การนึกถึงและพูดคุยเกี่ยวกับภาพที่เธอเห็นบนเฟซบุ๊กก็จะทำให้เธอมีอาการ PTSD ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ด้านเบอร์ตี ธอมสัน ผู้อำนวยการการสื่อสารองค์กรของเฟซบุ๊กออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เฟซบุ๊กรับรู้ว่างานนี้เป็นงานยาก บริษัทจึงจัดหาการอบรมและสวัสดิการให้กับพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนที่ทำหน้าที่นี้ได้รับความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพ เช่น มีพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับพนักงาน
ที่มา : Time